อนาคตพลังงานไทย ค้านถ่านหิน-เบรกพลังลม

อนาคตพลังงานไทย ค้านถ่านหิน-เบรกพลังลม

ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจ ชะลอโครงการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่” กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์

 โดยให้กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลับไปจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฉบับใหม่

แม้ว่าก่อนหน้านี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะไฟเขียวให้กฟผ. เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้

ต้องยอมรับว่า “แรงกดดัน”หนึ่งที่นำไปสู่บทสรุปดังกล่าว เกิดจากมีผู้ชุมนุมคัดค้านราว 200 คน มาปักหลักบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนจะสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา หลังรัฐตัดสินใจชะลอโครงการ แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐจะพยายามเรียกความเชื่อมั่นว่า ปัจจุบัน “เทคโนโลยี”การผลิตไฟฟ้า จากถ่านหินก้าวหน้าไปถึงขั้น “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” ตีตกข้อกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่เป็นผล 

กรณีที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นถึง “ความยากลำบาก” ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในไทย ที่ไม่เฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เท่านั้น แต่ยังหมายถึง โรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ที่มองกันว่า เป็น “พลังงานสะอาด” เป็นผู้ช่วยพระเอกที่จะนำกำลังการผลิตไฟฟ้ามา “ทดแทน” กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล  

ล่าสุด คือกรณีที่เกิดขึ้นกับ “โรงไฟฟ้าพลังงานลม” หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเพิกถอนสัญญา บริษัทเทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดชัยภูมิ ทำให้ส.ป.ก.ต้องตรวจสอบสัญญาการใช้ที่ดินของเอกชน ที่เช่าที่ส.ป.ก.ติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด 17 ราย โดยกำหนดตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน

ทำให้แผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม อาจต้องชะลอออกไปจากแผนเดิม ที่กระทรวงพลังงานกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่เหลือประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ให้ได้ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ปี2558-2579 ที่กำหนดรับซื้อ 3,002 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579  

แล้วอะไรคือทางออกของการ “ปลดล็อก” สถานการณ์พลังงานในไทย ที่วิกฤติขึ้นทุกขณะจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับปริมาณการผลิต 

ขณะที่การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะมีประเด็นเรื่องความมั่นคง หากเกิดกรณีพิพาทกับเพื่อนบ้าน การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ก็ทำได้ยากในภาวะที่ก๊าซฯกำลังจะหมดอ่าวไทย 

หากฝ่ายหนุนและฝ่ายค้าน ไม่ “เดินสายกลาง” แบบพบกันครึ่งทาง ประเทศไทย อาจจะต้อง “นับถอยหลัง” เดินสู่วิกฤติพลังงาน

ที่สุดท้าย “จะมีแต่ผู้แพ้”  

Black Out !!