ความขัดแย้งแก้ไขได้ ต้องสร้างความไว้วางใจ

ความขัดแย้งแก้ไขได้ ต้องสร้างความไว้วางใจ

กรณีความขัดแย้งโครงการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ระหว่างภาครัฐ และหน่วยงานที่ดูแล ผลิตกระแสไฟฟ้าหลักของประเทศ

อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับประชาชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากใครที่ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจะเห็นพัฒนาการ และประเด็นที่มีความสำคัญสำหรับสังคมไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ในเรื่องการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะของรัฐบาล แม้ว่าเรื่องราวแต่ละนโยบายจะมีความแตกต่างกัน แต่หลักการพื้นฐานในการพิจารณาว่า สมควรหรือไม่สมควรน่าจะมีความเหมือนกันในหลายประการ

ประการแรก ข้อแตกแย้งว่าใครที่มีสิทธิคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบ โดยภาครัฐมักจะอ้างเหตุผลว่าการต่อต้านมาจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ในขณะที่คนในพื้นที่ไม่มีการต่อต้านจากโครงการดังกล่าว ซึ่งประเด็นว่าใครมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย แต่เราต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่าหากโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถือว่าทุกคนมีสิทธิในการคัดค้านหรือสนับสนุนทั้งสิ้น เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเรื่องของเขตแดน แต่ส่งผลกระทบไปไกลและต่อเนื่อง

ประการที่สอง เหตุผลการก่อสร้างเนื่องจากเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องยอมเสียสละบางส่วนและถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งหลักการเพื่อคนส่วนใหญ่มักจะมีการกล่าวอ้างกันในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทุกประเภท ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศก็มักจะยึดหลักการเดียวกันในการพิจารณาโครงการ แต่การพิจารณาจากส่วนใหญ่และส่วนน้อยแล้วมาใช้ในการตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ถูกต้องเสมอไป ดังมีตัวอย่างมาแล้วในหลายกรณี และบางกรณีก็นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างไม่รู้จบสิ้นดังตัวอย่างที่เคยมีมาแล้ว

ประการที่สาม ปมปัญหาเรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐยืนยันว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นมีความทันสมัยและไม่กระทบสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน แต่ผู้คัดค้านกลับเห็นว่าไม่อาจไว้วางใจในเทคโนโลยีได้ เพราะอุบัติเหตุและปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลกเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะทันสมัยแค่ไหน แต่ก็มีโอกาสเสมอที่จะเกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์กับปัญหาความไว้วางใจระหว่างภาครัฐและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ประการที่สี่ สืบเนื่องจากปัญหาความไม่ไว้วางใจนี้เอง ทำให้เกิดความขัดแย้งกันตั้งแต่ขั้นตอนของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยิ่งคนเกิดข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสของขั้นตอนการดำเนินการเท่าไร ปัญหาความไว้วางใจก็ยิ่งมากเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานกลางขึ้นมาทำหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นปัญหาสำคัญในขณะนี้คือการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐกับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นับจากนี้ไป เนื่องจากในอนาคตจากนี้ไป จะมีความขัดแย้งในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

หากที่ประเมินความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นับว่าปัญหาความเชื่อมั่นและไว้วางใจเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งหากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ดูแลโครงการต้องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอาจทำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น โดยจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสในขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น โดยไม่มีการแทรกแซงหรือพยายามให้เป็นไปตามที่ฝ่ายตัวเองต้องการ และเราเชื่อว่าการแก้ปัญหาความไว้วางใจในระยะยาวยังมีความจำเป็นอีกเรื่อง นั่นคือ หน่วยงานที่ตรวจสอบหลังจากโครงการเสร็จจะต้องมีความอิสระเช่นเดียวกัน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถทำกระบวนการทั้งหมดหรือมีระบบที่โปร่งใสได้ เราเชื่อว่าความขัดแย้งแบบเก่าๆ ก็จะหมดไป และประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง