CEO ต่างชาติพูดไทย : จะบรรลุ 4.0 ได้อย่างไร?

CEO ต่างชาติพูดไทย : จะบรรลุ 4.0 ได้อย่างไร?

ไม่ง่ายเลยที่จะนัดหมาย CEOs ระดับสากลรวมมูลค่าธุรกิจแล้ว อย่างน้อยขึ้นแสนล้าน มาขึ้นเวทีตั้งวง

คุยภาษาไทยถึงอนาคตของบ้านเมืองนี้ได้

แต่คุณวิกรม กรมดิษฐ์ในฐานะรองประธานคนที่ 1 ของสภาธุรกิจไทย-จีนก็ทำสำเร็จ อีกทั้งชวนผมตั้งวงสนทนาหัวข้อ “มองหาอนาคต...ยุค 4.0” ได้อย่างมีสาระและสนุกสนานเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา

คุณเคียวอิจิ ทานาดะ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ดูแลกิจการของโตโยต้าอีกสี่ห้าประเทศในแถบนี้ (ปีก่อนถูกมอบหมายให้รับผิดชอบถึง 40 กว่าประเทศ)

 คุณทานาดะปีนี้ 65 มาประจำเมืองไทยสองรอบ รวมกันถึงวันนี้ไม่น้อยกว่า 13 ปี พูดภาษาไทยเป็นน้ำ ตั้งคำขวัญให้พนักงานโตโยต้าเป็น “3 .” คือ “สวัสดี สบายดี และสนุกดี”...ตอกย้ำความมุ่งมั่นสร้างไทยให้เป็นฐานการผลิตและวิจัยพัฒนาของภูมิภาคนี้หลังจากปักหลักอยู่ประเทศนี้มาแล้ว 55 ปี

คุณวิลเลี่ยม ไฮเน็คกิคือประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริการของเครือไมเนอร์กรุ๊ป สร้างตัวเองจากนักขายมาเป็นเจ้าของกิจการระดับโลก วันนี้มี 150 โรงแรมและ 2,000 ภัตตาคารใน 32 ประเทศทั่วโลก...ปีนี้จะฉลองการก่อตั้งธุรกิจ 50 ปี

ผมเรียกเขาว่า “บิล” เพราะรู้จักกันตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม (ปีนี้ 68)...วันนี้เขาถือบัตรประชาชนไทย ทิ้งความเป็นอเมริกันไปเลย “ผมไปอเมริกาทุกวันนี้ก็ต้องไปยืนเข้าคิวตากแดดขอวีซ่าที่สถานทูตอเมริกันเหมือนคนไทยทั้งหลายนะครับ”

คุณฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี. กริมม์ที่เกิดมาแล้ว 139 ปี เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมไทยมายาวนาน วันนี้ธุรกิจหลักคือการผลิตและขายพลังงานให้กับธุรกิจน้อยใหญ่

คุณฮาราลด์พูดไทยชัดเจนคล่องแคล่ว...ผมถามว่าฝันเป็นภาษาอะไร? ได้รับคำตอบว่า “แล้วแต่วัน...ฝันได้ทั้งสองภาษา”

คุณฮาราลด์ถือบัตรประชาชนไทยเช่นกัน ถือว่าเป็นคนไทยเต็มภาคภูมิแม้จะเกิดที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 64 ปีก่อน เชื้อชาติเยอรมันรับช่วงธุรกิจของครอบครัวเป็นรุ่นที่ 3

ทั้งสามท่านยืนยันว่าประเทศไทยจะมีอนาคตต้องทำเรื่องใหญ่สองเรื่องคือปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากทำไม่ได้ก็ไม่ต้องพูดถึง Thailand 4.0 เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดสำหรับไทยคือการ “สร้างคน” เพื่อแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้

อีกข้อเสนอหนึ่งคือการที่ไทยจะต้องเปิดกว้างให้ “คนเก่งที่สุดในโลก” เข้ามาทำงาน ไม่กีดกันด้วยกฎกติกาที่มีอยู่ปัจจุบัน เพราะหากไทยจะเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสากลก็ต้องมีคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นสากลมาทำงาน โดยที่คนไทยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแย่งงาน เพราะในท้ายที่สุด หากสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่กระตุ้นให้คนไทยต้องตระหนักในความสำคัญของการยกระดับความสามารถของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

“คนไทยไม่แพ้ใครในโลก โดยเฉพาะด้านธุรกิจบริการ แต่เราต้องเปิดประตูให้กว้างเพื่อดึงคนเก่ง ๆ เข้ามาเสริมอีกโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ที่กำลังเป็นปัจจัยสำคัญของการผลักดัน ให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0” คือข้อสรุปของ “คนต่างชาติที่รักประเทศไทย” ทั้งสามท่าน....

ใครพูดให้ไทยเสียหาย ทั้งสามท่านออกมาปกป้องอย่างเข้มแข็งไม่น้อยไปกว่าคนไทยอื่น ๆ เลย!