หลักการและหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนากรุงเทพฯป็นมหานครของเอเชีย

หลักการและหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนากรุงเทพฯป็นมหานครของเอเชีย

จากคำถามที่ว่า กรุงเทพและปริมณฑลควรจะเป็นมหานครของเอเชียในมิติใด?

ผมได้ใช้ “ทฤษฎีหลักหมุด” ที่ผมคิดขึ้นเพื่อตอบคำถามดังกล่าว ทฤษฎีนี้ทำให้เราสามารถตอบคำถามโดยพิจารณาตั้งแต่หลักปรัชญาที่เป็นนามธรรม หลักคิด หลักวิชา หลักการ ไปจนถึง หลักปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างสอดคล้องกันตลอดทาง

ในบทความครั้งที่ผ่านมา ผมนำเสนอไปแล้ว 3 หลักในทฤษฎีหลักหมุดของผม คือหลักปรัชญา หลักคิด หลักวิชา และในบทความตอนนี้ ผมจะนำเสนออีก 2 หลัก เพื่อตอบคำถามว่า กรุงเทพและปริมณฑลควรจะเป็นมหานครของเอเชียในมิติใด

4.หลักการ คือ หลักสาระสำคัญในการดำเนินการ หลักความจริงทั่วไป กฎเกณฑ์ ความรู้ หรือความคิดรวบยอดทั่วไปที่ใช้เป็นพื้นฐานของการกระทำ หรือความประพฤติที่เป็นรูปธรรม หลักการสามารถประยุกต์ไปสู่การปฏิบัติได้ โดยหลักการในการพัฒนามหานครเพื่อผลประโยชน์ของชาติ เช่น

4.1 หลักการวางแผนภาพกว้างภาพใหญ่จากส่วนกลาง หลักการนี้สอดคล้องกับเหตุและผลที่ผมได้อธิบายในส่วนของหลักวิชา คือ เชื่อว่าในกรณีประเทศไทย ควรให้รัฐเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาโดยคำนึงรับฟังทุกภาคส่วน

4.2หลักการมีส่วนร่วมตลอดทาง คือ การพัฒนาให้เกิดมหานครนั้น ไม่สามารถเกิดได้โดยรัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนอย่างจริงใจและแท้จริงไม่จัดฉาก และไม่เพียงการร่วมมือกับเอกชนเท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกันทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือที่ผมเรียกว่า รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ

4.3หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ผลประโยชน์ที่ได้นั้นตกเป็นของทุกคนในระยะยาวโดยคำนึง ระยะสั้นและระยะกลางด้วยและไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเป็นผลประโยชน์ที่ครบถ้วนทุกมิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กล่าวคือ ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจหรือความมั่งคั่งทางวัตถุเท่านั้น

5.หลักปฏิบัติ เป็นการประยุกต์หลักการมาใช้ในการดำเนินการภายใต้บริบทหนึ่งๆ มีลักษณะเหมือนหลักความประพฤติ การกระทำ หรือข้อกำหนดในการดำเนินงาน ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด และสามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของบริบทสถานที่และเวลา

จากหลักปรัชญา หลักคิด หลักวิชา และหลักการ ในการพัฒนามหานคร นำมาสู่หลักปฏิบัติ ได้แก่

5.1 กำหนดจุดยืนบนฐานการวิจัย เช่น การกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครในมิติใดๆ จะต้องมีการศึกษาและงานวิจัยรองรับว่ามิติใดที่เหมาะสมและสร้างประโยชน์ต่อภาพรวมสูงสุด

ในอดีตที่ผ่านมา มีความพยายามในการกำหนดตำแหน่งของกรุงเทพมหานครมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองน่าเที่ยว เมืองเพื่อผู้สูงอายุ เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองนวัตกรรมไอที เมืองสำคัญทางภูมิศาสตร์ประชาคมอาเซียน เมืองสิ่งแวดล้อม

ผมมองว่า เราต้องทำให้ กทม.เป็นเมืองให้น่าอยู่ครบถ้วนทุกด้าน โดยผมได้เสนอแนวคิด “เมือง 10 ส” ไว้เมื่อครั้งลงสมัครผู้ว่า กทม. ประกอบด้วย เมืองสะดวก เมืองสะอาด เมืองสุขสบาย เมืองสุขอนามัย เมืองสำราญ เมืองสวยงาม เมืองสมองสร้างสรรค์ เมืองสงบสุข เมืองสีขาว และเมืองสืบสานวัฒนธรรม

แต่หากเราต้องการกำหนดจุดยืนเป็นมหานครของเอเชียในบางด้านอย่างชัดเจน กรุงเทพมหานครควรจะวางตำแหน่งตนเองบนฐานการวิจัย ซึ่งตำแหน่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้ คือ เมืองสุขอนามัยหรือ มหานครแห่งสุขภาพ เพราะสอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศ และทิศทางของโลกที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น และคนใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี เราไม่ควรเน้นเพียงมิติทางเศรษฐกิจที่เน้นธุรกิจด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมมิติทางสังคมด้วย คือ สุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการมีสังคมที่ดี

5.2 สร้างการยอมรับในทุกภาคส่วนและให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา แม้รัฐจะเป็นผู้เล่นหลักในการกำหนดแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นมหานครในแบบใดก็ตาม การพัฒนานั้นควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่เริ่มต้น เช่นร่วมริเริ่ม ร่วมคิด ร่วมกำหนดเป้าหมาย ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมประเมิน ร่วมรับผิดชอบ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของและเกิดพลังในการขับเคลื่อน

ดังตัวอย่าง การมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศสโลวีเนีย (Slovenia) โดยรัฐบาลได้เชิญนักการตลาดมาช่วยในการสร้างแบรนด์ประเทศ ภายใต้สโลแกนว่า “I feel Slovenia” มีการทำวิจัยตลาดเป็นฐานในการรณรงค์

สโลวีเนียยังทำการสำรวจความเห็นของสาธารณะ โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การทำ Delphi จากกลุ่มผู้นำทางความคิด การวิจัยเชิงปริมาณโดยการเก็บข้อมูลจากตัวแทนในพื้นที่ต่างๆ การทำแบบสำรวจบนเว็บไซต์เพื่อเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วไป เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ เป็นต้น จากนั้นนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนเข้ามามีส่วนในการกำหนดแนวทางการพัฒนา

5.3 ใช้ 8E Model ของผมเป็นกรอบในการบริหารการพัฒนาเมือง ให้เกิดประสิทธิสภาพในกระบวนการบริหาร 8 ด้าน ทั้งการบริหารปัจจัย กระบวนการดำเนินงาน ผลผลิต ผลลัพธ์ การบริหารให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความเลอค่า เกิดการขยายผลทางบวก เกิดผลกระทบนอกขอบเขต รวมถึงการพัฒนาเมืองในมิติอื่นๆ ในอนาคต

5.4 พัฒนาดัชนีวัดผลกระทบภาพรวมในทุกมิติ (Impact Composite Index) เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินโครงการมีการพิจารณาผลกระทบทุกด้านอย่างรอบคอบ เช่น การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางสังคม การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

การศึกษาเฉพาะบางมิติอาจทำให้ไม่เห็นผลกระทบทั้งด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาดัชนีที่ใช้วัดผลกระทบมวลรวมทั้งหมดของโครงการได้ อาจเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยตัวชี้วัดจำนวนมากแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สามารถพิจารณาผลกระทบในแต่ละจุดและในภาพรวมของโครงการได้อย่างรอบคอบครบถ้วน

สร้างกลไกให้ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงการมีส่วนในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับ

ผลกระทบทางลบ เพื่อลดความขัดแย้งในสังคม กล่าวคือ เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่การเป็นมหานครอาจมีพื้นที่ หรือ กิจกรรมบางอย่างที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เพราะได้รับประโยชน์จากโครงการที่รัฐดำเนินการ

ผู้ได้รับประโยชน์จึงควรแบ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้นกลับคืนสู่รัฐ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดตั้งเป็นกองทุน เพื่อนำไปช่วยเหลือเพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้วย ตามหลักความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านในการดำเนินโครงการลงได้ด้วย

มีคำกล่าวว่า “กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย” การพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นมหานครแห่งเอเชียย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยด้วย แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ การพัฒนากรุงเทพฯ ต้องเกิดจากการมีวิสัยทัศน์ มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดมหานครที่เจริญก้าวหน้า และเป็นศูนย์กลางที่แพร่กระจายความเจริญไปยังจังหวัดอื่นๆ และทำให้ประเทศไทยโดยรวมได้รับประโยชน์ไปด้วย