ทุนนิยม การผลิตล้นเกิน นิยามที่คับแคบของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

ทุนนิยม การผลิตล้นเกิน นิยามที่คับแคบของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

ที่ผ่านมาหลายครั้ง คอลัมน์นี้ได้เสนอถึงการเคลื่อนไหวทางความคิดของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์

นอกกระแสหลัก (heterodox economists) ไม่ว่าเป็นกลุ่ม post-autistic economics (หรือตอนนี้เรียกว่า real-world economics) หรือกลุ่ม The Core project ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ล้วนพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ไปสู่แนวทางใหม่ เพราะเล็งเห็นถึงจุดบอดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ยึดติดกับแบบจำลองของทฤษฎีนีโอคลาสสิคอย่างแนบแน่น จนผู้เรียนถูกตีกรอบด้วยข้อสมมติฐานที่ไม่สมจริงมากมาย และเรียนรู้แต่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่แทบไม่สะท้อนโลกความเป็นจริง และที่สำคัญกว่านั้นคือ การยึดแบบจำลองดังกล่าวเป็นแกน ทำให้เศรษฐศาสตร์ขาด ความคิดเชิงวิพากษ์” (critical thinking) เป็นอย่างยิ่ง 

กล่าวคือเศรษฐศาสตร์ขาดการวิพากษ์และถกเถียงในระดับวิธีวิทยาและญานวิทยา เช่น คำถามที่ว่า เศรษฐศาสตร์สร้าง/ผลิต องค์ความรู้ โดยตั้งอยู่บนปรัชญาแนวคิดแบบใด? และมันสร้างโลกทัศน์ทางความคิดให้แก่นักเศรษฐศาสตร์อย่างไร? ตัวแบบทางคณิตศาสตร์และเศรษฐมิติมีความเชื่อถือมากน้อยเพียงไร? หรือคำถามต่อความบริสุทธิ์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ว่ามีความเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองหรือไม่ และมากน้อยเพียงไร? ซึ่งการขาดข้อถกเถียงเหล่านี้ ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ถดถอยจากการเป็นสาขาวิชาที่ไปสู่การเสนอวิสัยทัศน์แห่งสังคม กลายเป็นสาขาวิชาที่เน้นผลิตนักเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว

พื้นที่ในคอลัมน์นี้คงไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้หมด แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือ การขาดแคลนความคิดเชิงวิพากษ์และการมุ่งสู่ความเป็นวิชาเทคนิค เชื่อมโยงอย่างสำคัญกับนิยามที่ คับแคบของเศรษฐศาสตร์ ที่ว่า เศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด... เมื่อทรัพยากรเป็นสิ่ง “จำกัด” งานของนักเศรษฐศาสตร์คือต้อง “เลือก” วิธีการในการจัดการและจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง 

ทุกๆปีเวลาสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่เมื่อผมถามถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าคืออะไร ทุกคนก็ต่างตอบเช่นนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แน่นอนว่าผมไม่โทษนักเรียนหรืออาจารย์ที่สอนพวกเขาในระดับมัธยม ถ้าจะโทษก็ต้องโทษการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยที่ยึดติดกับวิธีการทางเทคนิคและสร้างโลกทัศน์ทางความคิดที่ฝังนิยามดังกล่าวให้แก่ผู้เรียนอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

นิยามดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในบทแรกของตำราเศรษฐศาสตร์ทั่วไป และถูกยึดถือเป็นคัมภีร์ที่แทบไม่มีใครตั้งคำถามกับมัน อย่างไรก็ตาม จากการที่ผมได้ติดตาม The Core project และได้ลองเริ่มอ่านบ้างกลับพบว่ามีบทนำที่น่าสนใจอย่างมาก (ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเพื่อรับเอกสารได้ทาง www.core-econ.org ครับ) 

แบบเรียนดังกล่าวไม่ได้เริ่มด้วยนิยามที่คับแคบข้างต้น หากแต่เริ่มอย่างมีชีวิตชีวาด้วยการกล่าวถึง การปฏิวัติของทุน” (The Capitalist Revolution) ซึ่งนำเสนอมิติทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่า ทุนนิยมเกิดขึ้นได้อย่างไรและมันได้นำพาอะไรมาสู่สังคมและชีวิตของพวกเราบ้าง แบบเรียนได้อภิปรายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อพันปีที่แล้ว ผลผลิตประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ของผู้คนบนโลกมีลักษณะที่แบน คือ ถ้าหากดูเป็นกราฟเส้นที่มีแกนตั้งและแกนนอน ผลผลิตประชาชาติต่อหัวมีลักษณะเป็นเส้นตรงที่ราบเรียบขนานกับแกนนอน เพราะว่ารายได้ต่อหัวของแต่ละประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1000-1700 แทบไม่แตกต่างกันเลย 

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ขึ้น นั่นคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ร่วมด้วยการก่อกำเนิดขึ้นของเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิค ที่นำการยกระดับของเทคโนโลยีในการผลิตอย่างถาวร ร่วมด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการจัดการทางการผลิตในระดับโลก (เช่น ระบบการแบ่งงานกันทำที่ยกระดับการผลิตที่อิงช่างฝีมือหัตถการไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม) ยังผลให้ผลผลิตประชาชาตต่อหัวเพิ่มขึ้น ผลผลิตประชาชาติต่อหัวของแต่ละประเทศได้เพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า ซึ่งลักษณะผลผลิตต่อหัวของประเทศต่างๆบนโลกที่แบนราบในตอนแรก และพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างมากในตอนหลังในแบบเรียนได้เปรียบไว้ว่าเหมือนเป็นรูป ไม้ฮอกกี้” (hockey stick) นั่นเอง 

อีกทั้งการพุ่งทะยานขึ้นของผลผลิตต่อหัวนั้นไม่ได้มีลักษณะที่สมมาตรในทุกประเทศ กล่าวคือ ประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคมระดับผลผลิตทะยานขึ้นมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (เช่น ในสหราชอาณาจักรผลผลิตประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก ไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์ ไปเป็น 25,000 ดอลลาร์ ในขณะที่อินเดียระดับผลผลิตเพิ่มขึ้นไปไม่ถึง 5,000 ดอลลาร์ เป็นต้น)

การพิจารณาการเพิ่มขึ้นของผลผลิตประชาชาติต่อหัวอาจไม่ทำให้เห็นถึงพลังของทุนนิยมอย่างเพียงพอ แบบเรียนได้นำเราไปสู่ข้อมูลที่น่าสนใจที่ว่าการปฏิวัติทุนนิยมได้นำมาซึ่งการยกระดับทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นอย่างถาวร เช่น ถ้าหากย้อนเวลาโลกกลับไปเมื่อ 100,000 ปีก่อน จะพบว่าผลิตภาพของแรงงานในการผลิตแสงนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดิน พูดง่ายๆคือแสดงสว่างเป็นสิ่งที่ได้มายากยิ่ง แต่ในทุนนิยมยุคใกล้นี้ผลิตภาพของแรงงานที่ใช้ในการผลิตแสงสว่างนั้นเพิ่มขึ้นนับล้านเท่า! 

หรือแม้กระทั่งความเร็วในการเดินทางของข้อมูล ที่ถ้าหากย้อนกลับไปสมัยอิยิปต์โบราณ ข้อมูลเดินทางช้ามากคือประมาณ 1 ไมล์ต่อ 1 ชั่วโมง แน่นอนว่าการเดินทางของข้อมูลเร็วขึ้นมากเมื่อเข้าสู่การปฏิวัติของทุนนิยม เนื่องจากรถไฟและการเกิดขึ้นของโทรเลข กลายเป็นว่าชั่วโมงเดียวข่าวสารเดินทางได้ถึง 12 ไมล์ทีเดียว ไม่นับถึงสมัยนี้ที่ข่าวสารเดินทางรอบโลกแค่เพียงวินาทีด้วยการสื่อสารทางอินเตอร์เนท

ข้อสะท้อนคิดที่ได้จากบทนำของแบบเรียน The Core project คือ (ซึ่งตรงนี้ผมขอสรุปต่างจากแบบเรียน) ทุนนิยมได้นำพาโลกของเรามาสู่ภาวะที่มีผลิตภาพ ระดับเทคโนโลยี และผลผลิตที่มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เราได้ก้าวมาสู่ยุคที่มี การผลิตล้นเกิน” (overproduction) 

ประเด็นเรื่องการผลิต “ล้นเกิน” นี้ดูจะอยู่นอกความสนใจเศรษฐศาสตร์ (กระแสหลัก) ที่ติดกับดักนิยามที่ว่าทรัพยากรเป็นสิ่งที่ จำกัด และเราต้องเลือกจัดการเพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพ มากที่สุด 

อย่างไรก็ตามถ้าคิดต่ออีกหน่อย เราจะพบว่าภาวะที่ผลผลิตเพิ่มอย่างมหาศาลนี้ไม่ได้อยู่บนความยั่งยืน กล่าวคือ เราอยู่บนโลกที่ผลผลิตล้นเกินแต่ก็เป็นโลกที่ ความอดอยาก ความยากจน ทรัพยากรเสื่อมโทรม การกระจายรายได้ ยังคงเป็นปัญหาที่สืบเนื่องยาวนานของทุนนิยม ซึ่งตรงนี้มันนำไปสู่ปัญหาแกนกลางของทุนนิยมที่ว่า การผลิตที่ล้นเกินไม่ได้ทำให้โลกเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม และตรงนี้คือเป็นปัญหาเรื่อง “การกระจาย” กล่าวคือ แท้จริงแล้วผลผลิตอาจไม่ได้จำกัด (เพราะมันล้นเกิน) แต่มีคนบางกลุ่ม หรือบางประเทศสามารถ ควบคุมและดึงดูดสินค้าและทรัพยากรเข้าหาตนได้มากขึ้น ในขณะที่ทำให้ในอีกหลายๆประสบกับความขาดแคลน

เมื่อคิดได้เช่นนี้ นิยามแห่งเศรษฐศาสตร์จึงควรเปิดกว้าง และให้คุณค่าต่อการค้นหาสิ่งที่เป็นตัวกำหนดการผลิต และทำให้เกิดการกระจายผลผลิตและทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน (ซึ่งอาจเป็นมิติทางการเมืองหรือรูปแบบวัฒนธรรมก็ย่อมได้) และเราจะออกแบบกลไกใดเพื่อให้สังคมของเราเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม 

ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจนี้ควรจะเป็นนิยามของเศรษฐศาสตร์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านิยามที่ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด...โดยที่ไม่มองว่าประสิทธิภาพสูงสุดของกิจกรรมต่างๆนั้น เกิดขึ้นเพื่อเป็นผลประโยชน์ของชนชั้น หรือกลุ่มผลประโยชน์ใด

------------------

นรชิต จิรสัทธรรม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น