การเมืองโลกเขยิบ การเงินเราขยับ

การเมืองโลกเขยิบ การเงินเราขยับ

การเมืองโลกเขยิบ การเงินเราขยับ

พ.ศ. 2532 ระบบการเมืองโลกพบเจอบทพิสูจน์ที่สำคัญของสองขั้วแนวคิด ระบบเสรีประชาธิปไตยประกาศชัยชนะในยุโรปด้วยการทำลายกำแพงเบอร์ลินที่แยกดินแดนเยอรมันออกเป็นเยอรมันตะวันตก และเยอรมันตะวันออกกว่า 28 ปี ใต้แขนของสหภาพโซเวียตเดิม ชาวเยอรมันตะวันออกพบกับความยากจน มีคนจำนวนมากพยายามจะหนีข้ามกำแพงเพื่อเข้าพึ่งพิงโลกเสรีที่มีทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน แต่หลังจากกำแพงเบอร์ิลินถูกทำลายลงเยอรมันใหม่ก็ก้าวเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าและกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ในปีเดียวกันอีกซีกโลกคอมมิวนิสต์ก็ย้ำความสำเร็จในอำนาจเบ็ดเสร็จที่จัตุรัสเทียนอันเหมินหลังจากนักศึกษาจีนกว่าแสนคนลุกขึ้นประท้วงเรียกร้องเสรีภาพแบบประชาธิปไตย การสลายการประท้วงทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คนบาดเจ็บอีกเกือบหมื่นคนสร้างความมั่นคงในฐานอำนาจการเมืองของจีน แต่ภายหลังเหตุการณ์ การปกครองในยุคประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน นำเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ยุคแห่งการก้าวหน้าที่แท้จริง อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2 digit ต่อเนื่องกว่าสิบปี อย่างไรก็ดีในทศวรรษที่ 90 เสรีประชาธิปไตยก็ีมีชัยอย่างชัดเจนหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2534 หรืออีกสองปีหลังทำลายกำแพงเบอร์ลิน ระบบอำนาจโลกเปลี่ยนไป การคานอำนาจ ถ่วงดุล เปิดกว้างและมีเสรีกลายเป็นระบบระเบียบที่เป็นที่ยอมรับ

หลายปีผ่านมาทุนนิยมเสรีกลายเป็นความเลยเถิด วิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ต้นเหตุก็มาจากความคลั่งทุนนิยมมากจนเกินไปจนทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบเกินตัวสะท้อนผ่านวิกฤตทางการเงินดังนี้ พ.ศ. 2538 ฟองสบู่ดอทคอมในสหรัฐฯ พ.ศ. 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งในไทย พ.ศ. 2541 วิกฤตการเงินในรัสเซีย พ.ศ. 2542 วิกฤตทางการเงินในอาเจนติน่า พ.ศ. 2551 วิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ ปีเดียวกันยังเกิดวิกฤตหนี้ของไอร์แลนด์ พ.ศ. 2552 วิกฤตหนี้สินกรีซ และวิกฤตดูไบเวิลด์ ทำให้เริ่มมีคนตั้งคำถามว่ากติกาที่ให้มีการถ่วงดุล มันทำให้สมดุลหรือไม่ ระบบที่ให้มีเสรีแต่มันเท่าเทียมหรือเปล่า

ดังจะเห็นกลุ่มที่ต่อต้านระบบทุนนิยมแบบเสรีเกิดขึ้นรวมถึงการแสดงออกผ่านระบบการเลือกตั้ง ที่สร้างผู้นำที่มี “character” แบบอนุรักษ์นิยมแนว ๆ เผด็จการหน่อย ๆ เราได้เห็นผู้นำแนวนี้ชนะการเลือกตั้งหลายคน อย่างนายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรี ประเทศกรีซ ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ช่วงแรกที่รับตำแหน่งสร้างกระแสเบี้ยวหนี้ยูโรโซน) ไม่เว้นแม้แต่ประเทศผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐฯ เองประธานาธิบดีคนล่าสุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เข้าแนวสุดโต่งอนุรักษ์นิยม

Trend นี้จะยังสร้างการเปลี่ยนแปลงการเมืองโลกโดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งผมเชื่อว่าลึก ๆ คนยุโรปเริ่มเบื่อหน่ายกับปัญหาเศรษฐกิจที่ติดพันกันมากว่า 6-7 ปี อังกฤษ เป็นตัวอย่างที่ดีที่ประชาชนเลือกที่จะ “ออก” มากกว่า “รวม” เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพ เรียกว่าถ้ารวมกันมันหดหู่แยกกันอยู่ดีกว่า

การได้ผู้นำที่อนุรักษ์นิยมและมีความสุดโต่ง บนแนวความคิดประชาธิปไตยที่ใช้มวลชนเป็นฐานเสียง ผลที่ตามมาคือสูตรสำเร็จของ “นโยบายชาติประชานิยม” ซึ่งผมบัญญัติศัพท์เองโดยเป็นการรวมกันของคำว่า “ชาตินิยม” กับ “ประชานิยม”

หรือจะขยายความให้เข้าใจกันง่าย ๆ คือการใช้นโยบายรักษาผลประโยชน์ของชาติเพื่อแบ่งปันสู่ประชาชนหวังสร้างคะแนนนิยม โดยลดการรักษากติการะหว่างประเทศ เช่น การกีดกันทางการค้าทั้งในรูปแบบภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff) การจำกัดการจ้างงานแรงงานต่างด้าว การจำกัดการเข้าของผู้อพยพที่เป็นเงื่อนไขร่วมกันในการรักษาความมีมนุษยธรรม การออกจากข้อผูกมัดจากสัญญาเดิม เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปที่มีข้อผูกมัดจากการรวมกลุ่มยูโรโซนอย่างการใช้ธนาคารกลางร่วม การใช้ single currency การสร้างระบบกองทุนร่วมกัน ฯลฯ จากกรณีอังกฤษที่อาจจะกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้ประเทศที่เสียประโยชน์ในการรวมกลุ่มตัดสินใจในการลดข้อผูกมัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปลี่ยนรัฐบาล (เลือกตั้งใหม่) พรรคการเมืองที่ชูนโยบายลดข้อจำกัดในการรวมกลุ่มซึ่งทำให้ชาติ (ประชาชน) เสียประโยชน์ จะเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมสูง (อ้างอิงจากกรณีพรรคไซรีซาของ นายอเล็กซิส ซิปราส ที่ชนะการเลือกตั้งในกรีซ)และมีแนวโน้มจะได้จัดตั้งรัฐบาล ปีนี้จึงอาจจะเป็นปีที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโลกกลายเป็นประเด็นใหญ่และมีผลต่อการประเมินเศรษฐกิจต่อไป

จากกระแสลมการเมืองโลกที่อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในหน้ามรสุมผลเชิงวิเคราะห์ต่อเศรษฐกิจในมุมมองของผู้เขียนมีดังนี้

ประการแรกการค้าระหว่างประเทศ (บางรายการและบางประเทศ) จะสะดุดนำโดยสหรัฐฯ ที่ต้องการลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งผลที่ออกมาจะมีทั้งด้านบวกคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ดีขึ้นด้วยการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศจากการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่รวมถึงจีนที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญ

ประการที่สองความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการใช้นโยบายทางการเงินและการค้าที่จะทำให้เกิดการไหลของเงิน ประกอบกับความไม่มั่นใจในบางช่วงทำให้เกิดการย้ายเม็ดเงินระหว่างสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น ทองคำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการใช้นโยบายทางการเงินอย่างนโยบายดอกเบี้ยในการคุมเศรษฐกิจ

ประการที่สามข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศที่มากขึ้นจากการกีดกันทางการค้า การใช้นโยบายโต้ตอบ การวิพากษ์นโยบายที่สุดโต่ง

และประการสุดท้ายความวิตกของนักลงทุนที่มีต่อความเสี่ยงทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสินทรัพย์ในการพักเงินหรือลงทุนดังจะเห็นว่าในการปรับพอร์ตช่วงต้นปี มีการสะสมทองคำเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงหลายด้าน การเมืองโลกก็เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นปี 2560 จึงเป็นปีที่น่าจับตาทิศทางการเมืองโลก ตลาดการลงทุน และราคาทอง