ระดมกึ๋น 'ทูตพาณิชย์' เร่งผลักดันส่งออก

ระดมกึ๋น 'ทูตพาณิชย์' เร่งผลักดันส่งออก

วันนี้ (20 ก.พ.) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

 หรือที่รู้จักกันนามทูตพาณิชย์จากประเทศต่างๆ 63 แห่งทั่วโลก จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออก และจัดทำแผนผลักดันการส่งออก เพื่อให้อัตราการขยายตัวปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 3%ตามเป้า

ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมกัน “อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์” ได้มอบการบ้านให้กับทูตพาณิชย์ไปว่า ขอให้แต่ละประเทศไปประเมินวิกฤตและโอกาสของในพื้นที่ที่รับผิดชอบดูแลอยู่ ว่าจะส่งผลต่อการส่งออกของไทย และให้จัดทำแผนรับมือ รวมถึงแผนผลักดันการส่งออกให้ชัดเจน และให้นำมาพูดคุยหารือกันในเวทีประชุมครั้งนี้

ที่สำคัญ ขอให้แผนที่จะจัดทำขึ้น จะต้องสอดคล้องกับแผนงานที่กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการหารือร่วมกับที่ปรึกษารายภูมิภาค ทั้ง 7 ภูมิภาค ที่มีภาคเอกชนเป็นแกนนำ

 รมว.พาณิชย์ บอกว่า กระทรวงพาณิชย์จะมุ่งเน้นการผลักดันการส่งออก โดยใช้เครือข่ายของภาคเอกชนที่ทำตลาดอยู่ในประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว มาช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยผลักดันให้ SMEs ของไทย มีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้นโดย 7 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น อาเซียน ยุโรป และสหรัฐฯ

ในการประชุม ทูตพาณิชย์จะมีการนำเสนอแผนการผลักดันการส่งออกเชิงรุกรายภูมิภาค และจะร่วมกันดูว่าแผนใดเหมาะสม แผนใดควรจะดำเนินการทันที และแผนใดสอดคล้องกับแผนงานที่ที่ปรึกษารายภูมิภาคได้เสนอมา ซึ่งจะต้องปรับให้สอดคล้องกัน และให้การทำงานได้ผลดีที่สุด

นางอภิรดี ย้ำอีกว่า ไม่เพียงแค่จะมีการปรับแผนการส่งออก จะมีการหารือร่วมกับทูตพาณิชย์เพื่อประเมินและวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) นโยบายทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีมากขึ้น

ทูตพาณิชย์ต้องไปดูว่า อะไรที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และต้องประเมินสถานการณ์และประเมินผลดีผลเสียต่อการส่งออกของไทย เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้เตรียมแผน เตรียมมาตรการในการรับมือ

เบื้องต้น พบว่า เบร็กซิต ยังไม่มีผลกระทบกับไทย เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่เตรียมใช้นโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไว้รับมือแล้ว ขณะที่นโยบายทรัมป์ ปัจจุบันยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ถ้าเป็นไปตามที่เป็นข่าว โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้ากับจีนและเม็กซิโก ประเมินว่า น่าจะเป็นโอกาสดีต่อสินค้าไทย ซึ่งก็จะใช้นโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

จากแผนการทำงานที่เกิดขึ้น ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า รูปแบบการทำงานในการผลักดันการส่งออกได้มีการพลิกโฉมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จากเดิมที่ภาครัฐเป็นคนนำ มาเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบความร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐกับเอกชน ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ภายใต้ชื่อ “ประชารัฐ”

หากความพยายามผ่านรูปแบบการทำงานใหม่นี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้จริง ปีนี้ การส่งออกที่จะขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง คงได้เห็นกันซึ่งอาจจะมากกว่าเป้าหมาย 3% ก็เป็นไปได้

.............................................

ปราณี หมื่นแผงวารี