วิกฤติหน่วยงานอิสระ

วิกฤติหน่วยงานอิสระ

รัฐบาลตัดสินใจชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่

โดยสั่งให้กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ใหม่ โดยยกเลิกรายงานอีไอเอฉบับเดิม ส่งผลให้กระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่ล่าช้ามากกว่า 2 ปี และทำให้สถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เผชิญกับความเสี่ยงไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออกกันต่อไป

จากคำชี้แจงของพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ฝั่งประชาชนไม่วิตกว่าจะใช้พลังงานอะไรในการทำไฟฟ้า เพียงแต่ไม่มั่นใจกระบวนการอีไอเอ และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ทางรัฐบาลจึงสั่งให้พลังงานแจ้งไปยังกฟผ.ให้เริ่มต้นกระบวนศึกษารายงานดังกล่าวใหม่ โดยปรับปรุงเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร ก็ยืนยันว่าทุกฝ่ายพร้อมจะยอมรับ” ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลายลงและเริ่มกระบวนการกันใหม่

ความเห็นของโฆษกรัฐบาลสอดคล้องกับนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล หนึ่งในแกนนำการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า“จากการหารือกับทางรัฐบาล ก็ได้ข้อยุติว่ายกเลิกรายงานอีไอเอ และ อีเอชไอเอฉบับเดิมออกไป ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ขณะนี้จึงกลายเป็นศูนย์ ถ้าจะสร้างก็ต้องเริ่มกระบวนการรับฟังความเห็นกันใหม่ โดยครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งการรับฟังความเห็นจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย จะไม่มีการจัดตั้งคนสนับสนุน โดยบริษัทที่ปรึกษาของการไฟฟ้าเข้ามาอีกแล้ว“ และ ระบุอีกว่า” ไม่ว่าผลการศึกษาฯจะออกมาอย่างไรพวกเราก็พร้อมน้อมรับ”

จากการติดตามการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาจากความไม่เชื่อมั่นว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่กระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แม้กฟผ.ยืนยันว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นถ่านหินสะอาด และจากการเจรจาในครั้งนี้ทำให้เกิดประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ความไม่ไว้วาง คือกระบวนการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ออกมาก่อนหน้านั้น เพราะฝ่ายต่อต้านเห็นว่ากระบวนการจัดทำไม่มีความโปร่งใสและมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง

ความไม่ไว้วางใจการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่ที่ฝังลึกในสังคมไทย คือ วิกฤติความไว้วางใจองค์กรกลาง หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งกรณีของโรงไฟฟ้ากระบี่คือบริษัทที่ทำหน้าที่จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อเกิดประเด็นข้อสงสัยหรือความไม่ไว้วางในตั้งแต่ต้นเสียแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความไว้วางใจในเรื่องอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีหรือเรื่องมาตรการดูแลของหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่การก่อสร้าง รวมถึงเรื่องอื่นๆที่ตามมาอีกมาก

ดังนั้นกรณีของโรงไฟฟ้ากระบี่ อาจเป็นบทเรียนสำคัญให้กับภาครัฐในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่อีกจำนวนมาก ในการจัดทำรายงานผลกระทบต่างๆควรทำอย่างตรงไปตรงมาและไม่ให้เกิดความหวาดระแวงตั้งแต่ต้น ซึ่งเชื่อว่าหากมีการดำเนินการอย่างมีหลักวิชาการและมีเหตุผลที่ทุกฝ่ายรับฟังได้ ก็เชื่อแน่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะลดลงไปมาก ดังนั้น หน่วยงานของรัฐเองอาจต้องปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะการสั่งการลงไปจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี และอย่าไปรีบเร่งเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ เราเชื่อว่าหากเกิดความเข้าใจและร่วมหาแนวทางที่ดีที่สุดในการพิจารณา แม้จะใช้เวลานาน แต่ถือว่าคุ้มค่ากว่าทำกันอย่างรวดเร็ว แต่เกิดความขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุด