ปรองดอง...ไม่มีจริง

ปรองดอง...ไม่มีจริง

กระบวนการปรองดองที่รัฐบาล คสช.เป็นเจ้าภาพเชิญผู้แทนพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง

เข้ารับฟังความคิดเห็น ซึ่งดำเนินการผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ ต้องบอกว่า เงียบสนิท

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่เชื่อว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริง ขณะที่ฝ่ายการเมืองเริ่มออกมาแสดงบทบาท เล่นกับมวลชน มากขึ้น สะท้อนว่าเวลาของคสช.กำลังนับถอยหลัง

โพลล์จากหลายสำนักค่อนข้างชัด ความพึงพอใจต่อผลงานของรัฐบาลลดลงทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การจัดเวที ปรองดอง จึงดูประหนึ่งเป็นการหาทางออกไปสู่การเมืองใหม่มากกว่า เป็นการเมืองในรูปลักษณ์ของ รัฐบาลแห่งชาติ โดยมีกลไกที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บีบให้เดินไปสู่ทิศทางนั้น

ถามว่าเหตุใด ปรองดอง จึงไม่เกิดขึ้นจริง คำตอบก็คือการปรองดองไม่มีทางลัด แต่ต้องทำตามกระบวนการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก คือ Truth and Reconciliation ซึ่งมี 4 ขั้นตอนหลักๆ คือ ค้นหาความจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (เปิดให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้แสดงความสำนึก ขอโทษเหยื่อ และเหยื่อให้อภัย) จากนั้นจึงใช้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (กำหนดรูปแบบการดำเนินคดีหรือลงโทษผู้ที่ก่อความขัดแย้งและความรุนแรง อาจมีการใช้กระบวนการยุติธรรมรูปแบบพิเศษ หรือพักโทษ หรือนิรโทษ) และสุดท้ายคือการสร้างกลไกป้องกันความขัดแย้ง เช่น ทำสัญญาประชาคม หรือปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงกับประชาชน

จะเห็นได้ว่ากระบวนการที่รัฐบาลกำลังทำ ไม่ครบตามกระบวนการที่ควรจะเป็น แถมยังใช้ ทางลัด” เพื่อล็อกผลให้จบตามธงที่ตั้งไว้ ที่สำคัญคือการไม่มีการแสดงความสำนึก ขอโทษ เพื่อถอนความรู้สึกเกลียดชังออกจากใจประชาชน ดังเช่นที่มีบางฝ่ายเสนอให้ กองทัพ” เป็นผู้นำในการขอโทษประชาชนก่อน

การ “บังคับวิถี” ให้ปรองดองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และตั้ง รัฐบาลแห่งชาติ” แม้จะมีความเป็นไปได้ในแง่ของการใช้เสียงสนับสนุนจาก 250 ส.ว.สรรหาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หากเสียงจาก ส.ส.ปริ่มน้ำ รัฐบาลใหม่ย่อมมีโอกาสถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และโหวตล้มรัฐบาลได้ทุกเมื่อ

นี่คือความยุ่งยากของอนาคตการเมืองไทย และไม่ใช่โจทย์ง่ายๆ เหมือนที่ คสช.คิด!