ปมที่คลี่ไม่ออกของกพช.

ปมที่คลี่ไม่ออกของกพช.

คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จ.กระบี่

 โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวมีความล่าช้ามานานกว่า 2 ปี และกังวลว่าหากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้ จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งขนาดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ จะช่วยให้ลดความเสี่ยงสถานการณ์ไฟฟ้าในภาคใต้ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

กรณีความขัดแย้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในครั้งนี้ เกิดจากมุมมองต่างกันถึงความจำเป็นในการก่อสร้าง กล่าวคือ ภาครัฐมองในแง่ของความเสี่ยงในเรื่องปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีอัตราการเติบโตสูงจากการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นหากไม่มีปริมาณสำรองมากพอก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้กระแสไฟฟ้าตก และในที่สุดก็จะส่งผลกระทบกับประชาชน

ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความกังวลนั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลโครงการนี้ ยืนยันว่าจะทำเทคโนโลยีทันสมัยและใช้ถ่านหินเกรดดี เพื่อให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด โดยมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบพื้นที่ ซึ่งจากการชี้แจงของหน่วยงานรัฐสะท้อนให้เห็นว่าให้ลำดับความสำคัญ ต่อการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรก หรือที่เรียกว่าความมั่นคงด้านพลังงาน ในขณะที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นถกเถียงและไม่ได้ข้อยุติ

สำหรับประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย มีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ซึ่งมีความกังวลอย่างมากต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยมองประเด็นนี้มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานนั้นเห็นว่ามีทางเลือกอื่นอีกมาก เช่น พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอื่น ในขณะที่ประเด็นทางเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้านั้นยังมีความกังวลและไม่ไว้วางใจกฟผ.ว่าจะทำได้จริงตามที่กล่าวไว้ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาความไว้วางใจที่เกิดขึ้นมายาวนานพอๆ กับประวัติศาสตร์การผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น ประเด็นการตัดสินของกพช.ในครั้งที่ให้เดินหน้าโครงการนี้ตามแผนที่วางไว้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องระมัดระวังความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีการต่อต้านค่อนข้างมาก แม้ว่าทางการจะระบุว่าจากการศึกษาและรับฟังความเห็น พบว่าประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยมากกว่าผู้ที่คัดค้าน แต่ไม่ว่าเหตุผลหรือข้อมูลที่หยิบยกมาสนับสนุนการก่อสร้างจะมาจากฐานข้อมูลใด ประเด็นสำคัญอยู่ที่การให้ความสำคัญต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างเกิดขึ้น กล่าวคือ เป็นความขัดแย้งระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม

แน่นอนว่าการตัดสินใจว่าจะยึดหลักใดในการตัดสินใจ ถึงทางเลือกที่ดีที่สุดของโครงการนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายสาธารณะ โดยขณะนี้กพช.ได้เลือกแนวทางความจำเป็นทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่ยังเป็นคำถามสำคัญ เพราะอย่าลืมว่าหากเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจริงตามที่ฝ่ายคัดค้านกังวล ก็อาจไม่คุ้มค่าเพราะมูลค่าความเสียหายในเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นไม่อาจประเมินค่าด้วยตัวเลขได้ แต่เป็นความเสียหายการดำรงชีวิตทั้งหมดกับพื้นที่โดยรอบ

เราไม่อาจจินตนาการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาจริงๆ ตามมติกพช. เพราะประเด็นสำคัญคือความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ ซึ่งดูเหมือนว่าโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชาชนคัดค้านจำนวนมาก คำถามคือหากความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย โรงไฟฟ้าจะอยู่อย่างไรและคนที่ทำงานในโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีความเป็นอยู่อย่างไรท่ามกลางคนไม่พอใจ ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ขัดแย้งใหม่ที่ปะทุขึ้นมา อันเนื่องมาจากโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ