นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและเงินสำรองระหว่างประเทศของจีน

นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและเงินสำรองระหว่างประเทศของจีน

จีนได้ประกาศปรับค่าเงินหยวนสูงขึ้นจาก 8.2665 หยวนต่อดอลลาร์ 2.1% เมื่อวันที่

 21 ก.ค. 2005 และประกาศว่า เงินหยวนจะผูกติดกับตะกร้าของเงินสกุลต่างๆ แทนที่จะเป็นเงินดอลลาร์เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ นัยว่าเพื่อไม่ให้สหรัฐกล่าวหาว่า จีนจงใจกำหนดค่าเงินหยวนให้เป็นประโยชน์ต่อการค้าของตนกับสหรัฐ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการตั้งกำแพงภาษีขาเข้าต่อสินค้าจีน ที่กล่าวกันว่าอาจสูงถึง 27.5% (Neely, 2017) แต่จีนก็ไม่เคยเปิดเผยว่า ตะกร้าของเงินสกุลต่างๆ ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ Yuming Cui (2013) แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะได้สันนิษฐานว่ามีเงินตราอยู่ 11 สกุลที่ประกอบด้วยเงินสกุลระหว่างประเทศและเงินสกุลหลักในเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่ให้แก่เงินดอลลาร์สูงถึงประมาณ 86% ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการค้าที่มีกับสหรัฐเป็นอย่างมาก

การประกาศผูกเงินหยวนจีนกับตะกร้าของเงินสกุลต่างๆ พร้อมกับปล่อยให้เงินหยวนมีค่าสูงขึ้นตามลำดับ จึงเป็นไปเพียงเพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเงินหยวนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริงและมีการบริหารจัดการอย่างจงใจเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อจีน ค่าเงินหยวนขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อประมาณปลายปี 2013 ที่ประมาณ 6.0440 หยวนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างปี 2008-2011 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์การเงินสหรัฐ เงินหยวนถูกหยุดค่าอยู่ที่ 6.82 - 6.85 หยวนต่อดอลลาร์อย่างชัดเจน แม้จะไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ ทุกคนย่อมสามารถเข้าใจได้ไม่ยากว่าเป็นไปเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนักอันเนื่องมาจากวิกฤติในสหรัฐ

สืบเนื่องจากความต้องการของจีนที่ต้องการให้ IMF นำเงินหยวนเข้าเป็นเงินตราสกุลหนึ่งใน SDR จีนได้ทำการลดค่าเงินหยวนลงประมาณ 4.4% ในปี 2015 นัยว่าเพื่อต้องการทำตามเงื่อนไขของ IMF ที่ว่า เงินตราที่อยู่ใน SDR จะต้องมีการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่เป็นไปอย่างอิสระปราศจากการควบคุม (Neely, 2017) ในขณะเดียวกันจะได้ปล่อยให้เงินทุนมีการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การลดหรือทำให้เงินหยวนอ่อนค่าเป็นการทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปซึ่งไม่ใช่ความต้องการของจีนและมีความจำเป็นจะต้องลดค่าเงินลงเรื่อยๆ

ที่จริงแล้ว การถือสินทรัพย์ต่างประเทศหรือการคืนเงินกู้ยืมแก่ต่างประเทศของจีนได้เกิดขึ้นบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2005 ทั้งๆ ที่เงินหยวนที่ค่อยๆ แข็งค่าขึ้นซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินตราต่างประเทศได้เปรียบอย่างยิ่ง แต่ธุรกิจจีนมีสภาพคล่องเหลือมากจากการทำกำไรทางการค้าและภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ความต้องการใช้เงินลดลง การคืนเงินกู้ยืมต่างประเทศมาเกิดอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจากว่าในภาวะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเรื่อยๆ การถือสินทรัพย์ต่างประเทศจะได้ผลตอบแทนรวมดีขึ้นและการกู้ยืมเงินต่างประเทศจะมีต้นทุนสูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินหยวน รายการเงินกู้ยืมต่างประเทศจะปรากฏในรายการเงินลงทุนอื่นๆ ของบัญชีชำระเงินระหว่างประเทศตามรูปแบบ IMF ดังแสดงในตารางที่ 1 ที่ตัวเลขในปี 2015 เพียงปีเดียวมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วง 5 ปี ระหว่าง 2010-2014

ทั้งสองกรณีข้างต้นทำให้สูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศไปจากจุดสูงสุดที่ 3.99 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อมิ.ย 2014 จนเหลือ 3.01 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อธันวาคม 2016 อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินสำรองที่ลดลงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์นี้เป็นผลสืบเนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเกือบๆ 20% หรือคิดเป็นประมาณกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั้งไทยและเทศไม่ว่าชื่อดังเพียงใดยังไม่เคยกล่าวถึงประเด็นนี้เลย

ปริมาณเงินหมุนเวียนของจีนมีองค์ประกอบหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการลงทุนโดยตรง เงินกู้ยืมไม่ใช่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่วนการถือสินทรัพย์ต่างประเทศก็เป็นไปตามปริมาณการค้าระหว่างประเทศมากกว่า มาจากการลักลอบส่งเงินออกนอกประเทศ ซึ่งก็อาจมีผู้แย้งว่าเป็นเพราะว่าจีนมีการควบคุมเงินทุนเข้าออกที่เข้มงวด แต่เรื่องนี้ก็มีวิธีที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

เมื่อดูบัญชีชำระเงินระหว่างประเทศของจีนเมื่อปี 2015 ดังแสดงในตารางที่ 1 แล้ว จะพบว่า บัญชีเดินสะพัดลดลงค่อนข้างชัดเจนจากช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้นระหว่าง 2010-2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญคือการเคลื่อนย้ายของเงินทุนซึ่งเลวร้ายลงอย่างมาก กล่าวคือปี 2015 เพียงปีเดียวมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าระหว่าง 2010-2014 ส่วนตัวเลขเบื้องต้นของปี 2016 น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2015 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีสาเหตุเพียงประการเดียว ซึ่งก็คือ การอ่อนค่าหรือการลดค่าเงินหยวนตั้งแต่ต้นปี 2014 รวมๆ กันประมาณ 13% ใน 3 ปี หรือตกปีละ 4.5% ซึ่งถือว่ามากและถือว่าเป็นตัวไล่เงินทุนให้ออกจากประเทศไป 

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนตั้งแต่ปี 2014 ถือเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างร้ายแรง ยิ่งค่าเงินหยวนมีการลด/อ่อนค่าติดต่อกันบ่อยเท่าใด ยิ่งทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายหนีมากเท่านั้น วิถีทางเดียวที่จะทำให้หยุดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนคือ อย่างน้อยที่สุด ธนาคารกลางเองจะต้องไม่ใช่ผู้กระทำการลดค่าเงินเสียเองอย่างที่ทำในปี 2014, 2016 และ 2017 นี้

แล้วปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนจะเพียงพอหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังถามกัน Neely (2017) แห่ง Federal Reserve Bank of St.Louis กล่าวว่า ถ้าการควบคุมเงินทุนของจีนไม่มีประสิทธิภาพ จีนควรจะมีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างต่ำ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ถ้าหากว่ามีประสิทธิภาพ 1.8 ล้านล้านเหรียญก็เพียงพอแล้ว

ตราบใดที่อัตราแลกเปลี่ยนเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เงินสำรองเท่าไรก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ายังคงมีการลดหรือทำให้เงินหยวนอ่อนในระดับค่าที่ห่างไกลจากธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจ เงินสำรองเท่าไรก็ไม่พอ