นโยบายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (1)

นโยบายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (1)

ในระยะหลังนี้ทั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นาย โดแนล ทรัมป์และที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบ

ขาว (White House National Trade Council) Dr.Peter Navarro กล่าวย้ำหลายครั้งในหลายโอกาสว่าต้องการให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เพราะเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น กำลังฆ่าการส่งออก” ในความเห็นของประธานาธิบดีสหรัฐและสำหรับ Dr. Navarro นั้น ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยกล่าวหาประเทศเยอรมันว่ามีบทบาทนำในการกำหนดค่าเงินยูโรให้อ่อนตัว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันออกมาปฏิเสธอย่างทันควัน การแสดงความเห็นของผู้นำสหรัฐและ Navarro มีส่วนในการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเกือบ 2% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ในหลาย สิบปีที่ผ่านมานั้น สหรัฐมีนโยบายและจุดยืนชัดเจนเสมอมาว่า a strong dollar is good for America โดยผู้กำหนดนโยบายค่าเงินและดุลยพินิจในการแสดงท่าทีเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์นั้นตกอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ดูเสมือนว่าความต้องการที่จะให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงนั้น เป็นวัตถุประสงค์สำคัญอันดับแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในความเห็นของผม เพราะจะบั่นทอนระบบการเงินระหว่างประเทศปัจจุบันที่อาศัยดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของเศรษฐกิจโลก

ประธานาธิบดีทรัมป์และที่ปรึกษาของเขาอาจมองปัญหาปัจจุบันที่สหรัฐขาดดุลการค้าต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 40 ปี (และการขาดดุลมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 5 แสนล้านเหรียญต่อปีในระยะหลังหรือประมาณ 3% ของจีดีพี) เป็นผลมาจากการที่ถูกประเทศคู่ค้าเอาเปรียบมาโดยตลอด ทั้งจากมาตรการกีดดันการค้าสหรัฐและนโยบายบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจนการส่งออกสหรัฐไม่สามารถแข็งขันได้

และประธานาธิบดีทรัมป์มักกล่าวว่าการสูญเสียของภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ในความเห็นของผมนั้น แนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐเองในระยะยาวอย่างมาก และจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นและระยะกลางอย่างรุนแรงอีกด้วย แต่ในระยะยาวนั้น แนวคิดที่จะให้เงินดอลลาร์สหรัฐเสื่อมค่านั้น อาจเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโลกโดยรวมในระยะยาวก็ได้ เพราะโลกไม่ควรจะต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลัก ซึ่งการพึ่งพาดังกล่าวทำให้สหรัฐมีอภิสิทธิ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สมควรที่จะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สหรัฐมีนโยบายเห็นผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก (America First) จึงไม่สมควรที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะเป็นเงินสกุลหลักของโลกและธนาคารกลางสหรัฐเป็นธนาคารกลางของโลกโดยปริยายดังที่เป็นอยู่ในอดีตและในขณะนี้

การทำความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้นั้นจะต้องมองกลับในอดีต ซึ่งไม่มีประเทศใดได้อภิสิทธิ์เช่นสหรัฐ เว้นแต่อังกฤษสมัยที่รุ่งเรืองมากและมีเมืองขึ้นอยู่ทั่วโกลก จึงทำให้เงินปอนด์อังกฤษเป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่ก็ยังต้องนำเอาค่าเงินปอนด์ไปผูกกับทองคำ ซึ่งเป็น “เงินที่เป็นกลาง” และคงทน จึงมีคุณสมบัติบางประการที่ทำให้มีความเหมาะสมที่จะเป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่ในขณะเดียวกันการพึ่งพาทองคำเป็นหลักเพื่อเป็นเงินสกุลหลักของโลกนั้นจะไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่า ปริมาณทองคำจะมีเพียงพอกับความต้องการทางการค้า-การบริการ-การลงทุนที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดได้ กล่าวคือการเพิ่มปริมาณของทองคำนั้น จะขึ้นอยู่กับการค้นพบและพัฒนาแหล่งผลิตทองคำใหม่ๆ ซึ่งคาดการณ์ได้ยากว่าจะมีอุปทานเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดและเมื่อไหร่และยังเป็นภาระในเชิงของการต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อการแสวงหาและผลิตทองคำออกมาใช้เป็นเงิน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้

อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ก็ได้มีการเจรจากันที่ Bretton Woods เพื่อจัดตั้งระบบการเงินระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ภายใต้กรอบของการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอมเอฟ (International Monetary Fund) ซึ่งในที่สุดก็ตกลงกันให้ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยผูกค่าเงินทุกสกุลเอาไว้กับทองคำ โดยคาดหวังให้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักที่มักใช้ชื่อว่า gold-dollar standard กล่าวคือสหรัฐผู้ค่าเงินดอลลาร์เอาไว้กับทองคำที่ 35 เหรียญต่อออนซ์ กล่าวคือให้คำมั่นว่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นสามารถนำมาแลกเป็นทองคำที่ 35 เหรียญต่อ 1 ออนซ์ได้ตลอดเวลา (convertibility)

ทุกๆ ประเทศสมาชิกของไอเอมเอฟก็ให้คำมั่นในลักษณะเดียวกันคือการกำหนดค่าเงินตายตัวกับทองคำ และหากมีปัญหาในระยะสั้นที่ขาดเงินเพราะขาดดุลการค้าชั่วคราวก็จะสามารถกู้เงินระยะสั้นมาทดแทนได้ โดยไอเอมเอฟทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่รับเงิน (ทุนสำรอง) ฝากจากทุกประเทศสมาชิกมาเก็บรักษาเอาไว้และสามารถให้ประเทศสมาชิกกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลระยะสั้นได้ และในกรณีที่เกิดปัญหารุนแรงที่เรียกว่าขาดดุลในเชิงพื้นฐาน ก็จะสามารถลดค่าเงินได้ แต่การลดค่าเงินดังกล่าวนั้นควรจะเกิดขึ้นน้อยครั้งและภายใต้การควบคุมดูแลของไอเอมเอฟเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่นที่สุดและไม่ส่งผลกระทบกับระบบการเงินระหว่างประเทศโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องป้องกันมิให้เกิดปัญหาการแข่งกันลดค่าเงินเช่นที่เคยเกิดขึ้นและทำความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมากในช่วง 1930-1938

แต่ระบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เรียกกันว่า Bretton Woods gold-dollar exchange standard นั้น ต้องล่มสลายลงไปในที่สุด ซึ่งผมจะเขียนถึงในตอนต่อไปครับ