Volunteer from Home จิตอาสาง่ายๆ ทำได้จากที่บ้าน

Volunteer from Home จิตอาสาง่ายๆ ทำได้จากที่บ้าน

เราคงเคยได้ยินคำว่า “Work from Home” หรือทำงานจากบ้านกันมาแล้วนะคะ ด้วยความที่โลกเราไร้พรมแดนและเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีนี้

และไม่ใช่แค่โลกธุรกิจเท่านั้น ต่อไปเราจะคุ้นกับคำว่า “Volunteer from Home” หรือการอาสาสมัครทำความดีจากที่บ้านด้วยเช่นกันค่ะ นั่นคือสิ่งที่ “วิกกี้ เซลลิค” ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมจากมูลนิธิ Nesta ซึ่งเป็นมูลนิธิสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเทศอังกฤษ ได้คาดการณ์ไว้ว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป การอาสาช่วยเหลือสังคมจากที่บ้านจะกลายเป็นสิ่งที่แพร่หลาย

การใช้ชีวิตทำงานอย่างเคร่งเครียด ยุ่งเหยิง และไม่ได้พบปะใครระหว่างชั่วโมงทำงาน รวมถึงการทำงานในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การที่คนๆ หนึ่งจะสละเวลาหรือเงินทองเพื่อช่วยเหลือสังคมนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของ “เทคโนโลยี” ทำให้แค่นั่งอยู่เฉยๆ บนโซฟาที่บ้าน คุณก็สามารถนำเวลาและพลังงานไปทำสิ่งดีๆ ได้ โดยรูปแบบของการอาสาสมัครให้ข้อมูล (Data donation)ซึ่งมีตั้งแต่การให้ “ข้อมูลประจำวัน” (Everyday data) ไปจนถึงข้อมูลในเชิงลึกในรูปของ “วิทยาศาสตร์พลเมือง” (Citizen science) เลยทีเดียว

ด้วยความที่ปัจจุบันเทคโนโลยีราคาถูกลง เราจึงสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและติดต่อโลกภายนอกได้ตลอดเวลาจากที่บ้าน แนวโน้มของคนทำงานจากที่บ้านจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ต่อไปนี้เราจะไม่ได้เพียงทำงานจากที่บ้านเท่านั้น แต่ยังสามารถมี “จิตอาสา” ได้จากที่บ้านด้วยเช่นกัน

มูลนิธิ Nesta คาดการณ์ว่าในปี 2560 โลกเราจะมีอาสาสมัครจากที่บ้านมากขึ้น โดยอาจอยู่ในรูปแบบของการให้เวลาเพื่อการกุศลหรือทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม อย่างการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์หรือเวบไซต์ อาทิ โมเดลของ The Mix ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคม (SE) ในอังกฤษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ที่กำลังเผชิญปัญหาและไม่รู้จะถามหรือขอความช่วยเหลือจากใคร โดย The Mix ได้คิดโปรเจคชื่อ Get Connected โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มแม่ๆ หรือผู้ใหญ่มาช่วยเป็น “ที่ปรึกษา” ตอบคำถามคาใจให้แก่เยาวชนกว่า 5,000 รายที่โทรหรือแชทเข้ามา โดยสามารถให้คำปรึกษาได้จากที่บ้าน ทั้งทางโทรศัพท์ อีเมล์ หรือแชท เป็นต้น

อีกตัวอย่างของภาคเอกชน เช่นสถาบันกวดวิชาจากอินเดีย ที่เริ่มเข้ามาตีตลาดในอังกฤษ ด้วยการนำเสนอติวเตอร์ผ่านทาง Skype โดยค่าเรียนเหลือเพียงชั่วโมงละ 13 ปอนด์ ต่ำกว่าราคากวดวิชาแบบตัวต่อตัวที่อยู่ที่ประมาณชั่วโมงละ 40 ปอนด์ โดยปัจจุบันในอังกฤษมีแอพสำหรับกวดวิชาในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าต่อไปเราจะเห็นองค์กรการกุศลนำโมเดลแบบนี้มาใช้ โดยหาอาสาสมัครที่มีความสามารถเข้ามาอุทิศเวลาเป็นติวเตอร์ให้แก่เด็กนักเรียนในเมืองที่ห่างไกลหรือด้อยโอกาส โดยเด็กนักเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

แต่หากหน่วยงานใดที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากนัก ก็อาจคิดรูปแบบการช่วยเหลือง่ายๆ เช่นผ่าน SMS อย่างการส่งข้อความให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำให้แก่กลุ่มคนที่ต้องการกำลังใจหรือต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ผล อาทิ Evie ซึ่งเป็น SE อีกรายในอังกฤษ รวบรวมอาสาสมัครที่เคยต่อสู่กับการเลิกเหล้า มาร่วมกันส่งข้อความให้กำลังใจแก่คนที่กำลังพยายามเลิกแอลกอฮอล์ ผลที่ได้คือ 99% ของผู้ที่ร่วมโครงการนี้สามารถหันมา “เลิกดื่ม” ได้สำเร็จ เป็นต้น

ข้อมูลส่วนตัวอย่างข้อมูลด้านสุขภาพก็เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน เชื่อว่าปัจจุบันหลายคนเก็บข้อมูลทางสุขภาพของตนเองไว้ในสมาร์ทโฟน อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อเจ้าตัวเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยในการวิจัยทางการแพทย์ด้วย โดยเริ่มมีสถาบันวิจัยต่างๆ ขอข้อมูลสุขภาพเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้อื่น อาทิ แอพพลิเคชั่น 100 for Parkinson’s จะรวบรวมข้อมูลสุขภาพแบบ “นิรนาม” ที่มีผู้บริจาคมา โดยแอพที่ว่านี้ได้ข้อมูลมาแล้วจากผู้มีจิตอาสากว่า 175 ล้านราย และข้อมูลนี้จะช่วยคนอีก 6.5 ล้านคนทั่วโลกที่กำลังเป็นโรคพาร์กินสันได้

แม้หลายคนกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการแบ่งปันข้อมูล แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ยินดีบริจาคข้อมูลแบบนิรนามในลักษณะนี้ อีกทั้งการเป็นผู้บริจาคข้อมูลหรือ Data donator ยังเป็นการทำดีที่ใช้ความพยายามน้อยมาก ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าต่อไปจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เท่ากับเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็น “จิตอาสา” จากที่บ้านด้วยเวลาเพียงสั้นๆ และง่ายดายในรูปแบบ Data donation ที่ว่ามานี้...ต่อไปนี้แค่พิมพ์ข้อความสั้นๆ หรือกดปุ่มมือถือเพียงไม่กี่ปุ่มก็อาจทำให้คุณรู้สึกอิ่มใจได้ จริงไหมคะ