บริหารเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน

บริหารเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้ขึ้นชี้แจงต่อสภาครั้งแรกตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่

 ว่าเฟดมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ย เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป อาจทำให้เฟดล่าช้าในการดำเนินนโยบายและต้องขึ้นดอกเบี้ยติดๆ กันในที่สุด ซึ่งหากสภาพการณ์เป็นเช่นนั้นก็อาจก่อให้เกิดภาวะถดถอย การรอนานเกินไปถึงค่อยเข้มงวดนโยบาย ถือเป็นเรื่องไม่ฉลาด โดยเฟดคาดว่าจะมีการสร้างงานมากขึ้น ส่วนเงินเฟ้อก็จะขึ้นถึงเป้าหมายที่ระดับ 2% ในการประชุมครั้งต่อๆ ไปเฟดจะประเมินว่าการจ้างงานและเงินเฟ้อดำเนินไปสอดคล้องกับการคาดหมายหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปตามการคาดหมาย ก็น่าจะเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย

การแสดงท่าทีของความพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มีการคาดหมายว่าเฟดอาจลั่นไก ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ ในการประชุมครั้งต่อไป คือวันที่ 14-15 มี.ค. ที่จะถึงนี้ แม้ประธานเฟดไม่ได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะมีขึ้นในการประชุมเดือนมี.ค. เดือนพ.ค. หรือเดือนมิถุนายนก็ตาม โดยก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้แนวโน้มข้างหน้ายังมีความไม่ชัดเจน เพราะประธานเฟดเองยอมรับด้วยว่าทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐมีความไม่แน่นอน สืบเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการคลังและนโยบายเศรษฐกิจ อันอาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะกระทบเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

หากดูภาพรวมเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐ จะพบว่ามีการสร้างงานเฉลี่ยเดือนละ 190,000 ตำแหน่งในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ส่วนค่าแรงก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราว่างงานอยู่ที่ 4.8% สำหรับดัชนีการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคล อันเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อสำหรับเฟด เพิ่มขึ้นเป็น 1.6% เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่ากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ดี ขณะเดียวกัน ประธานเฟดได้เตือนว่าการระงับการเดินทางของผู้อพยพเข้าประเทศ อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐซบเซา เพราะผู้อพยพหรือชาวต่างชาติอาจช่วยเพิ่มตัวเลือกแรงงานให้แก่สหรัฐ ในช่วงที่ผู้สูงวัยเริ่มออกจากตลาดแรงงาน

แนวโน้มของการเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินเกิดความผันผวน ในส่วนของไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. ก็ได้ชี้แจงว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากเห็นว่าค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงที่เกินพอดี ซึ่งเวลาดูต้องเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยการแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากความผันผวนของเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ดังนั้น เงินบาทจึงไม่ได้แข็งค่าสกุลเดียว ขณะที่การไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะที่แตกต่างจากประเทศอื่นมากนัก

ก่อนหน้านี้ โฆษกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เคยระบุว่า ไอเอ็มเอฟยังมองไม่เห็นหลักฐานว่ากำลังจะเกิดสงครามค่าเงินขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ความวิตกรอบใหม่ถึงการเกิดสงครามค่าเงินมีขึ้นหลังจากผู้นำสหรัฐ มีท่าทีที่แข็งกร้าวในเรื่องการค้า และระบุว่าการที่เงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินความเป็นจริงนั้น ทำให้ความพยายามร่วมมือทางเศรษฐกิจของโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่ในท้ายที่สุดแล้วนอกจากความผันผวนของค่าเงินแล้ว ประเด็นอื่นยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูอันเป็นผลต่อเนื่องจากสภาพการณ์ในต่างประเทศ เพราะแม้พอมีทิศทางบ้างแล้ว แต่ความไม่ชัดเจนก็ยังมีอยู่