จูราสสิค ปาร์คใน ไทยแลนด์ 4.0?

จูราสสิค ปาร์คใน ไทยแลนด์ 4.0?

“เหมือนเอาจูราสสิค ปาร์คมาไว้ในไทยแลนด์ 4.0...”

เป็นประโยคที่อ่านแล้วเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่กำลังอ้างว่าจะ “ปฏิรูป” แต่ลึกลงไปในเนื้อหาแล้วหลาย ๆ ประเด็นก็เข้าข่ายปล่อยให้ไดโนเสาร์วิ่งเพ่นพ่าน ในดินแดนที่เราเรียกว่าดิจิทัล 4.0

ข้อความนี้เป็นของ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการอภิปรายเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าด้วยเรื่องร่างกฎหมายที่เรียกเสียโก้เก๋ว่าเพื่อ “คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน”

แต่พอเห็นเนื้อหาแล้วก็กลายเป็นความพยายาม “ควบคุม” และ “กีดกัน” การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคที่รัฐบาลบอกว่าต้องให้ประเทศก้าวสู่ยุค 4.0

เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

เพราะการให้ประเทศเข้าสู่ 4.0 ย่อมหมายถึงการเปิดกว้างให้ความคิดเห็นหลากหลาย ได้มีส่วนทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสามารถแข่งกับประชาคมโลกได้อย่างคึกคัก ไม่จำกัดไม่ควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อสารมวลชน

ยิ่งโลกเทคโนโลยีก้าวเข้าสู่การเปิดกว้างผ่าน social media ที่ทุกคนสามารถมีบทบาทสื่อสารมวลชนด้วยตนเองได้ ก็ยิ่งต้องเขียนกติกา “ส่งเสริม” และ “สนับสนุน” ให้ใช้สื่อเพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยน เคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะประเทศใดจะเข้าสู่ความเป็น 4.0 ได้ก็จะย่อม “รู้เท่าทัน” ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการจะควบคุม การแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วยการตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่มีอำนาจออกใบอนุญาตและถอนใบอนุญาต พร้อมลงโทษคนทำสื่อพร้อมกับมีงบประมาณให้ประมาณ 100 ล้านเพื่อให้ “สภาฯ” แห่งนี้ใช้ตามที่ตนเห็นสมควรเพื่อทำหน้าที่กำกับและควบคุมเสรีภาพของสื่อ

โดยให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวงมานั่งอยู่ในสภาฯแห่งนี้โดยตำแหน่ง

ทั้ง ๆ ที่ภายใต้กติกาประชาธิปไตย ปลัดกระทรวงฯจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของสื่อมวลชน

แต่เมื่อวางโครงสร้างของสภาฯแห่งนี้เช่นนี้ก็เท่ากับว่าปลัด 4 กระทรวงนี้สามารถควบคุมการทำงานของสื่อได้

ใครจะเป็นคนตรวจสอบใครครับ? สื่อจะทำหน้าที่ขุดคุ้ยเรื่องไม่ชอบมาพากลของกระทรวงทบวงกรมได้อย่างไร หากปลัดกระทรวงอย่างน้อย 4 กระทรวงมานั่งในตำแหน่งที่สามารถตัดสินได้ว่า จะออกใบอนุญาตให้ใครทำอาชีพสื่อ และจะถอดถอนใครจากอาชีพนี้ก็ได้?

ให้ทั้งอำนาจให้ทั้งเงินอย่างนี้ สิทธิเสรีภาพที่แท้จริงของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นก็โบยบินออกไปทางหน้าต่างทันที

ที่อ้างว่าสภาฯแห่งนี้จะมี “ตัวแทนจากสื่อมวลชน” 5 คน มากกว่า 4 ปลัดกระทรวงฯ ก็เป็นการ “อำพราง” แผนที่จะเข้าครอบงำสภาฯแห่งนี้เท่านั้นเอง

เพราะประสบการณ์สอนเราว่าเมื่อมีการ “เลือกตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพ” เพื่อเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการที่มีอำนาจต่าง ๆ ที่ผ่านมา “องค์กรสื่อ” จะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดทันที โดยฝีมือของผู้มีอำนาจที่ทำให้เกิดกลุ่มก้อนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของวิชาชีพนั้นจริง ๆ หากเป็น“นอมินี” ของผู้มีอำนาจเพื่ออ้างว่าเป็นตัวแทนตามกฎหมายเท่านั้น

ผลที่ตามมาก็คือองค์กรวิชาชีพที่แท้จริงขณะนี้ จะกลายเป็นเสียงส่วนน้อยไปโดยพลัน เมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งคนเข้าไปนั่งในสภาฯที่ว่านี้

รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มายาวนานบอกว่าสื่อสารมวลชนอาชีพ ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลที่เอาเงินภาษีไปบริหาร

หากเราไม่มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบรัฐบาล ก็ถือว่าถูกปิดหูปิดตา... อีกประเด็นหนึ่งคือเงิน การเอาปลัดกระทรวงการคลังมานั่งเพื่อสนับสนุนเงิน และหากสื่อทำงานโดยมีคนส่งเงินมาสนับสนุน สื่อก็ย่อมเกรงใจ ยิ่งเป็นเงินจากภาครัฐอีก มีรัฐบาลคุมอีก การทำงานก็จะถูกมัดไปในตัว ...ประเด็นเรื่องเงินปีละ 100 ล้านบาทสำคัญมาก จะเป็นการทำลายสื่อได้ เพราะถึงเวลานั้น อย่าลืมว่าสื่อก็เป็นปุถุชน และมีความเป็นไปได้ที่จะต้องวิ่งเต้นเป็นกรรมการ เป็นการล่อเลย เรียกว่าเป็นโครงสร้างที่แข็งกระด้างมาก...”

สื่อต้องการเสรีภาพก็ต้องมีความรับผิดชอบ ถูกต้องที่สุด

อย่างที่ ดร.พิรงรอง ชี้ให้เห็นแล้วว่าสื่อต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเองด้วยจริยธรรม และกฎหมายก็ดูแลเรื่องความรับผิดชอบทางกฎหมายมากมายหลายฉบับอยู่แล้ว เช่น ...จดแจ้งการพิมพ์ พ.. 2550 และ ... ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ก็มีการควบคุมสื่อหมด

อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าการมีปลัดกระทรวง 4 คนมาอยู่ในสภาฯ ก็ดูจะทับซ้อนกัน ปลัดสำนักนายกฯ ดูแลช่อง 11 อยู่แล้ว ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯก็คุมเรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ทำหน้าที่กำกับสื่อออนไลน์ได้ ขณะที่ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมก็มีหน้าที่ในเรื่องเป็นผู้รับจดแจ้งสื่อสิ่งพิมพ์ แม้แต่ปลัดกระทรวงการคลังฯก็เป็นกระทรวงที่ถือหุ้นใหญ่ใน อสมท. ด้วยซ้ำไป

อย่างที่คุณวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เตือนไว้ว่าแม้ขณะนี้จะมีการถอนเรื่องออกไปก่อน แต่ก็ยังไว้ใจอะไรไม่ได้ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เพราะประชาชนเผลอเมื่อไหร่ ไดโนเสาร์อาละวาดทันที!