กำไรอาจไม่ใช่ความคุ้มค่า

กำไรอาจไม่ใช่ความคุ้มค่า

ข่าวการยกเลิก BRT เพราะยอดผู้ใช้ต่ำกว่าเป้าเลยทำให้ขาดทุน และอีกสารพัดข่าวเกี่ยวกับ

โครงการที่รัฐเป็นผู้ริเริ่มแต่ทำท่าว่าจะไปไม่รอดเพราะรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่ารัฐควรเอาหลักการทางธุรกิจมาใช้ในการคิดหรือเปล่า เพราะถ้าใช้หลักการนี้ โรงพยาบาลที่ขาดทุนก็อยู่ต่อไม่ได้ บางคณะในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีคนเรียนน้อย ค่าหน่วยกิตไม่พอกับรายจ่ายก็ต้องปิดตัวเช่นกัน

กำไรเป็นตัวเลขทางบัญชี แต่หน้าที่ของรัฐคือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน ซึ่งบางเรื่องผลที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์เชิงสังคม หรือก่อให้เกิดรายได้ในทางอ้อมซึ่งไม่สามารถวัดได้โดยตรง การใช้ไม้บรรทัดเดียวกับธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลกำไรมาวัดผลการดำเนินงาน อาจทำให้หลงประเด็นในเชิงนโยบายได้ เพราะกำไรกับความคุ้มค่าไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ในกรณีของโรงพยาบาล แม้รายได้จะไม่พอกับค่าใช้จ่ายจนขาดทุน แต่การรักษาคนในพื้นที่ให้มีสุขภาพดี ทำให้สามารถไปทำงานสร้างรายได้ รายได้ส่วนหนึ่งก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียน ซึ่งจะกลับมาในรูปของภาษี นอกจากนี้แล้ว เมื่อมีสุขภาพดีก็สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ดีขึ้น ประเด็นนี้เอามีตีค่าเป็นกำไรของโรงพยาบาลโดยตรงไม่ได้ แต่ลองไปถามใครก็ได้ ร้อยทั้งร้อยเชื่อขนมกินได้เลยว่าครอบครัวคือสิ่งที่มีคุณค่า

สำหรับหลักสูตรที่มีนักศึกษาน้อยจนค่าหน่วยกิตไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายของคณะ เช่น หลักสูตรปริญญาเอก ที่สร้างคนออกไปเป็นอาจารย์หรือนักวิจัย แม้ว่ารายได้จากค่าหน่วยกิตจะไม่คุ้มค่า แต่เขาเหล่านี้จะได้สอนนักศึกษาซึ่งเมื่อจบออกมาแล้วได้ทำงาน ย่อมมีรายได้มากขึ้นกว่าตอนที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ภาษีที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการให้ความรู้ของอาจารย์ ดร.คนนั้น ดังนั้นแม้หลักสูตรขาดทุน รายได้จากภาษีที่ได้กลับมาจากภาษีของบรรดาลูกศิษย์รวมแล้วอาจมากกว่าต้นทุนในการสร้างอาจารย์เสียอีก

หาก ดร.คนนั้นจบไปเป็นนักวิจัย ช่วยให้บริษัทสร้างสินค้าใหม่ออกมาขาย กำไรส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาก็กลับมาเป็นรายได้ในรูปของภาษี ซึ่งรัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป นั่นแสดงว่า หลักสูตรที่ขาดทุนทางบัญชีมีส่วนช่วยให้ประเทศมีเงินมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น ขาดทุนแบบนี้คุ้มค่าไหม?

ด้วยความที่โครงการของรัฐมีเป้าหมายเป็นผลประโยชน์ทางสังคม วงการวิชาการจึงได้พัฒนาศาสตร์ในการวัดคุ้มค่าทางสังคมขึ้นมาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินความคุ้มค่า โดยไม่ได้มองแค่รายได้ที่ได้รับโดยตรง แต่ยังต้องประเมินมูลค่าทางอ้อมเพื่อให้ได้ตัวเลขเบื้องต้นสำหรับใช้ในการแปลงประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้อยู่ในรูปของตัวเงิน

ยกตัวอย่างเช่น โครงการที่ช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด ประโยชน์ทางตรงจากโครงการนี้ที่เป็นเม็ดเงินเข้าสู่รัฐไม่มีเลย แต่การที่เด็กคนหนึ่งได้เรียนหนังสือต่อไป ไม่ไปเกี่ยวพันกับยาเสพติดนั้นเกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเองและสังคม

ประโยชน์ของตัวเอง คือ หากได้เรียนหนังสือจนจบ ก็จะมีงานทำ มีรายได้ รายได้ดังกล่าวบางส่วนก็จะกลายมาเป็นภาษีของรัฐเพราะเด็กคนนี้ต้องจ่ายเงินซื้อของ ทำให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากฐานเงินเดือนสูงพอ ก็ต้องเสียภาษีเงินได้

นอกจากนี้แล้ว เมื่อเด็กคนนี้ไม่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด โอกาสที่จะไปพัวพันกับเรื่องไม่ดี เช่น การฉกชิงวิ่งราว แล้วทำให้ชาวบ้านเดือนร้อน เราสามารถเอามูลค่าเฉลี่ยของทรัพย์ที่ถูกขโมยมาคิดได้ว่า การที่คดีลดลงไปอีกหนึ่งคดีจะป้องกันการสูญเสียทรัพย์ไปเท่าไหร่

กรณีตัวอย่างของการประเมินโครงการในลักษณะนี้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาพบว่า เงินที่ลงไป 1 บาท แม้จะไม่มีรายได้กลับมาโดยตรง ผลตอบแทนทางอ้อมที่เกิดขึ้นต่อสังคมมีค่าประมาณ 1.6 ถึง 4 บาท แสดงว่าโครงการเหล่านี้ขาดทุนทางบัญชี แต่มีความคุ้มค่าทางสังคม

นี่เป็นแค่ตัวอย่างของหลักคิดของการประเมินมูลค่าทางสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่า มูลค่าทางอ้อมที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นนอกสมุดบัญชีรายรับรายจ่าย แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้ การที่รัฐจะคิดว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร สิ่งที่ต้องทำก่อนตัดสินใจคือการประเมินความคุ้มค่าในเชิงสังคมให้ครบถ้วน

ผู้เขียนเชื่อว่า หากรัฐใช้เกณฑ์นี้ในการตัดสินใจทุกครั้งในการตัดสินใจเริ่มหรือยุติโครงการ บางโครงการที่กำลังทำอยู่คงไม่เกิด และบางโครงการที่ระงับไปแล้วอาจกลับมาใหม่อีกครั้ง BRT อาจยังได้วิ่งต่อ โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดยากขึ้น งบวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกจะสูงกว่าเดิม

การใช้เกณฑ์ความคุ้มค่าทางสังคมมาช่วยในการตัดสินใจ จะทำให้การใช้เงินหลวงมีความคุ้มค่ามากขึ้นกว่าเดิม ความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในระยะยาว