“ลักลอบค้าไม้” วิกฤติผืนป่าอาเซียน

 “ลักลอบค้าไม้”  วิกฤติผืนป่าอาเซียน

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นดินแดนที่อุดม

ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันหลายหลาย แต่สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วง 15 ปีมานี้ กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ติดอันดับประเทศที่มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่ามากที่สุดในโลก อันเนื่องมาจากปัจจัยหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนผืนป่าให้เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้ที่ดินสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยางพารา รวมถึงการลักลอกตัดไม้ แม้ชาติสมาชิกอาเซียนจะพยายามการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังไม่บรรลุผล

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของลาว ออกมาผลักดันกฎหมายปราบปรามการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและดำเนินการจับกุมผู้ละเมิดข้อกฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมจัดทำรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติงาน และห้ามมิให้ดำเนินการส่งออกไม้ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าอย่างเด็ดขาด

ขณะที่ หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปราบปรามผู้ลักลอบค้าไม้เถื่อนของรัฐบาลอาจไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวแก่นักการเมืองท้องถิ่นที่มีส่วนได้เสียกับขบวนการดังกล่าวได้ และด้วยเงื่อนไขจุดนี้เอง ที่ส่งผลให้ ลาวกลายเป็นศูนย์กลางการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมายแห่งหนึ่งของอาเซียน มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี

เช่นเดียวกับกัมพูชา ที่ไม่สามารถจัดการได้ เพราะขบวนการค้าไม้ผิดกฎหมายมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มการเมือง ซึ่งเมื่อนำไปผสมรวมกับปัจจัยปัญหาในด้านอื่น เช่น การให้สัมปทานป่าไม้เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจในปี 2556 รวมถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานแล้วนั้น ส่งผลให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “กัมพูชา” กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดแห่งของโลก

อย่างไรก็ดี “ไม้” จำนวนมหาศาล ทั้งจากลาวและกัมพูชาถูกขนย้ายไปตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อส่งต่อให้แก่ จีน และ “เวียดนาม” โดยทั้งจีนและเวียดนามจะนำไม้ที่ได้ เข้าสู่กระบวนการแปรรูปไม้เป็นเฟอร์นิเจอร์ สำหรับใช้สอยภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ อันเป็นการสร้างรายได้กลับสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง เช่น กรณีเวียดนาม จะนำเข้าไม้จากกัมพูชา จีน ลาว มาเลเซีย และไทยมาแปรรูป และส่งต่อไปขายยังสหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น เป็นต้น

ปัญหาการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมาย มิได้เกิดขึ้นเพียงในลาวและกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา รวมถึงไทย โดยรัฐบาลของประเทศ ต่างก็พยายามหาแนวทางการแก้ไข ล่าสุด เมื่อวันที่ 6-8 ธันวาคม 2559 ผู้แทนจากชาติสมาชิก 8 ประเทศ เดินทางเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมายร่วมกัน ณ กรุงจาการ์ตา

อินโดนีเซีย ได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement: VPA) ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมาย ธรรมาธิบาล และการค้าว่าด้วยเรื่องป่าไม้ (Forest Law Enforcement, Governance and Trade: FLEGT) กับสหภาพยุโรปเป็นประเทศแรก ความตกลงฉบับนี้ มีเงื่อนไขสำคัญคือ การค้าไม้ระหว่างอินโดนีเซียและสหภาพยุโรปจะต้องดำเนินไปตามกฎระเบียบว่าด้วยการค้าไม้ของสหภาพยุโรป (EU Timber Regulation) ที่ว่า สินค้านั้นจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมายในทุกกรณี ขณะที่ประเทศอื่นอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นการให้นิยามคำว่า การค้าไม้ถูก/ผิดกฎหมาย” ภายในประเทศของตนคืออะไร เป็นต้น

เมื่อปี 2547 สำนักเลขาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสวีเดน ประจำเอเชีย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การค้าไม้” โดยบทสรุปของการประชุมในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาการลักลอบค้าไม่ผิดกฎหมายเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น แต่ละประเทศต่างนิยามความหมายของการค้าไม้ถูก/ผิดกฎหมายแตกต่างกัน รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรสำหรับสอดส่องดูแลและจับกุมผู้กระทำความผิด เป็นต้น จะเห็นได้ว่า บทสรุปข้างต้นแม้จะเป็นผลการประชุมกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในช่วงประมาณปี 2550 ชาติอาเซียนได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง หลักเกณฑ์และตัวชี้วัดของอาเซียนเกี่ยวกับการค้าไม้กฎหมาย” (ASEAN Criteria and Indicators for Legality of Timber) โดยที่การประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการป่าไม้ (Forest Management Enterprise: FME) โดย FME จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้อย่างเข้มงวด เช่น จ่ายภาษีและตัดไม้เพื่อการค้าในปริมาณที่กฎหมายกำหนด มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) เป็นต้น

นายจอห์น คอยน์ (John Coyne) ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย ด้านความมั่นคงชายแดน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ชาติสมาชิกอาเซียนหันมาให้ความสำคัญกับการขาดแคลนทางทรัพยากร (Resource Scarcity) มากขึ้นผ่านการหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศของตน รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากประเด็นด้านทรัพยากรมีความเกี่ยวโยงกับนโนบายในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ รวมถึงแง่มุมทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมแห่งชาติและระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม แม้แต่ละประเทศจะทราบดีว่าการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมาย เป็นปัญหาระดับภูมิภาค แต่ก็พบว่า ประเด็นปัญหานี้ กลับยังไม่ได้ถูกยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากนัก

--------------------


กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” สกว.