ลงทุนอย่างไรในโลกยุค 4.0

ลงทุนอย่างไรในโลกยุค 4.0

เนื่องในโอกาสที่ผู้เขียนได้รับเกียรติจาก คุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ ให้เข้าร่วมเสวนาในงาน

Money360 XPO 2017 ณ วันเสาร์ที่ 25 ก.พ. เวลา 15.30 – 16.45 น.ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในยุคปัจจุบันที่ความผันผวนรอบด้าน ผู้เขียนจึงขอนำประเด็นที่จะเสวนาในงานมาเกริ่นให้กับผู้อ่านเป็นการเบื้องต้น

หัวข้อที่ผู้เขียนตั้งใจจะเสวนานั้น คือ “ลงทุนอย่างไรในโลกยุค 4.0” โดยสาเหตุที่ใช้ชื่อนี้ เป็นเพราะในปัจจุบัน คำว่า 4.0 ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่ในมุมของผู้เขียนเองนั้น คำว่า “เศรษฐกิจ 4.0” นับได้ว่ามีความสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนของ “มหากระแสเศรษฐกิจโลก” (Global Mega-trend) อันจะนำมาซึ่งความผันผวน อึมครึม และคาดเดายากในอนาคต

แต่ก่อนที่จะเข้าใจถึงธรรมชาติของโลกเศรษฐกิจยุค 4.0 ผู้เขียนขออนุญาตปูพื้นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุคใหม่ 1.0-3.0 ดังนี้

ในยุค 1.0 อันเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจโลกตกต่ำ เกิดสงครามการค้า สงครามค่าเงิน และการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ประเทศผู้ชนะสงครามจึงจัดการประชุมที่เมือง Bretton Woods สหรัฐอเมริกา และได้ก่อกำเนิด 3 องค์กรขึ้นคือ (1) องค์กรการค้าโลก (WTO) เพื่อจัดระเบียบการค้าและลดทอนภาษี (2) ธนาคารโลก (World Bank) เพื่อปล่อยเงินกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และ (3) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อตรึงค่าเงินของทุกประเทศทั่วโลกกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดอลลาร์ก็ผูกติดไว้กับทองคำ

แต่ยุค 1.0 ล่มสลายลงจากการที่อเมริกาทำสงครามอินโดจีน รวมถึงออกนโยบายประชานิยมต่าง ๆ จึงพิมพ์เงินออกมามาก ประธานาธิบดีนิกสัน จึงได้ประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับทองคำ และขึ้นภาษีสินค้านำเข้า มาตรการดังกล่าวนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจตกต่ำ (Stagflation)

วิกฤตยุค 1.0 นำมาสู่โลกเศรษฐกิจยุค 2.0 ที่แนวความคิดแบบการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจเริ่มเป็นที่นิยม ทั้งการยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว การเน้นการเปิดเสรีด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและเปิดเสรีภาคการเงิน รวมถึงเน้นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ

ขณะที่โลกยุค 3.0 คือยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ผลักดันกระแสทุนนิยมอย่างเต็มสูบ จนทำให้เกิด (1) บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ขยายฐานการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น (ซึ่งนำมาสู่การแย่งตลาดของบริษัทท้องถิ่น) (2) เกิดการย้ายฐานการผลิต จากประเทศพัฒนาแล้วมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา (ทำให้แรงงานของประเทศพัฒนาแล้วตกงาน) และ (3) ต้นทุนการผลิตที่ลดลง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากบริษัทที่กดค่าจ้างของพนักงาน ขณะที่เพิ่มผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร) นำมาสู่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ลดลง ซึ่งประเด็นทั้งสามนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และโลกยุค 4.0 ที่ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน

โลกยุค 4.0 นี้จะมีลักษณะเฉพาะ 4 ประการ คือ (1) นโยบายเศรษฐกิจจะหันมาเน้นในประเทศมากขึ้น โดยจะเน้นการลดภาษีและกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจเพื่อเอื้อต่อธุรกิจในประเทศ (2) นโยบายการคลังจะนำหน้านโยบายการเงิน (3) แนวนโยบายใหม่จะต่อต้านกระแสการเปิดเสรี เช่น กีดกันทางการค้า ตั้งกำแพงภาษี ทำสงครามค่าเงิน สนับสนุนให้เอกชนที่ไปลงทุนยังต่างประเทศหันกลับมาลงทุนในประเทศ และต่อต้านผู้อพยพ และ (4) การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จะมีมากขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายที่เน้นเศรษฐกิจในประเทศและต่อต้านโลกาภิวัฒน์ดังกล่าว

เมื่อโลกยุค 4.0 เป็นเช่นนี้ ทำให้ธีมในการลงทุน รวมถึงคำแนะนำในการลงทุนจะเปลี่ยนไป โดยในส่วนของธีมในการลงทุนนั้น ผู้เขียนขอสรุปเป็น 5 ธีม คือ (1) นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมและต่อต้านโลกาภิวัฒน์ จะเป็นที่นิยมมากขึ้น (2) เงินเฟ้อมีแนวโน้มว่าจะกลับมา (3) ราคาโภคภัณฑ์มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง (4) แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และ (5) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของคำแนะนำในการลงทุนนั้น ผู้เขียนขอสรุปคำแนะนำ 4 ประเด็น ดังนี้

คำแนะนำที่หนึ่ง ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า การลงทุนในหุ้นสหรัฐยังน่าสนใจ เนื่องจากนโยบายลดภาษีของทรัมพ์ บวกกับมาตรการจูงใจต่าง ๆ ที่จะผลักดันให้เอกชนสหรัฐที่ลงทุนในต่างประเทศกลับประเทศนั้น จะทำให้กำไรของบริษัทในสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่ในระยะต่อไป นโยบายต่าง ๆ ที่ผลักดันให้เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น และลดทอนความสามารถในการแข่งขันของเอกชนสหรัฐ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในยุโรปน่าสนใจในระยะยาว (แต่ความเสี่ยงสำคัญของยุโรปอยู่ที่การเมือง ว่าพรรคขวาจัดจะมีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลมากน้อยเพียงใด)

คำแนะนำที่สอง คือ การเปลี่ยนการลงทุนจากพันธบัตรมายังหุ้นมากขึ้น เนื่องจากการลดทอนมาตรการ QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ รวมถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาลสำคัญของโลก เช่น สหรัฐ จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้น และราคาลดลง จึงควรหันมาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น มากขึ้น (แต่ทั้งนี้ คำแนะนำดังกล่าวขึ้นอยู่กับสมมุติฐานที่ว่านโยบายรัฐบาลทรัมพ์ที่ต่อต้านโลกาภิวัฒน์จะไม่รุนแรงมากนัก หรือเป็น Good Trump มากกว่า Bad Trump)

คำแนะนำที่สาม คือ การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มน่าสนใจ โดยแม้ว่าโอกาสที่ราคาโภคภัณฑ์จะกลับไปสูงเหมือนปี 2553-55 จะเป็นไปได้ยาก แต่ผู้เขียนมองว่า ราคาโภคภัณฑ์โดยรวมเริ่มมีการปรับฐานแล้ว ดังนั้น การลงทุนในโภคภัณฑ์ต่าง ๆ (รวมถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าดังกล่าว) ทั้งเชื้อเพลิง โลหะอุตสาหกรรม โลหะมีค่า รวมทั้งธัญพืชต่าง ๆ เริ่มน่าสนใจ (แต่ทั้งนี้ การพิจารณาสินค้ารายตัวเป็นสิ่งจำเป็น)

คำแนะนำที่สี่ คือ การลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนน่าสนใจแต่มีความเสี่ยงสูง โดยเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ดอลลาร์สหรัฐจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะพิจารณาจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ หรือนโยบายรัฐบาลทรัมพ์ที่ปกป้องทางการค้าและผลักดันให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงก็ตาม แต่ก็มีความผันผวนสูงเนื่องจากตัวทรัมพ์เองที่มีแนวโน้มจะทำสงครามค่าเงินกับประเทศอื่น ประกอบกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าได้เช่นกัน

เหล่านี้คือคำแนะนำในการลงทุนในโลกยุค 4.0 โดยสังเขป แต่หากต้องการทราบในรายละเอียด สามารถรับฟังจากผู้เขียนโดยตรงได้ในวันและเวลาข้างต้น

------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่