เศรษฐกิจไทยจะโต 4% ได้จริงหรือ

เศรษฐกิจไทยจะโต 4% ได้จริงหรือ

เศรษฐกิจไทยจะโต 4% ได้จริงหรือ ?

เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกข่าวว่าจะทำการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4% เป็น 4% เพราะเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะโตได้มากกว่าที่เคยคาดไว้ ผ่านการทำงบประมาณกลางปี 2560 เพิ่มเติมอีก 1.9 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2561 ที่สูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2560

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังกว่า โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 3.2% เท่ากับในปี 2559 ในฝั่งของเอกชน สำนักวิจัยและสถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็ยังมีความเห็นออกไปทางอนุรักษ์นิยมคล้ายกับของแบงก์ชาติ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตอยู่ในช่วง 3.2-3.6%

คำถามคือ ความเป็นไปได้มีมากน้อยแค่ไหนที่เราจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยโต 4% ในปีนี้ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผมว่าเราจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นถ้าเราแปลงส่วนต่างระหว่าง 4% กับ 3.4% (ค่าเฉลี่ยที่เอกชนประเมิน) ออกมาเป็นตัวเงิน ซึ่งจะเท่ากับประมาณ 80,000 ล้านบาท พูดง่ายๆ ก็คือ กระทรวงการคลังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่าที่เอกชนประเมินไว้ 80,000 ล้านบาท ถามว่าสูงไหม ก็ต้องบอกว่าไม่สูง เทียบเท่ากับประมาณ 1% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเท่านั้น แปลว่าแค่สมมติฐานการส่งออกที่ต่างกันเพียง 1% อย่างอื่นเท่ากันหมด เช่นคนหนึ่งมองว่าส่งออกจะโต 1% อีกคนมองว่าจะโต 2% แค่นี้ประมาณการ GDP ของทั้งสองคนก็จะต่างกัน 80,000 ล้านบาท

ดังนั้น เราอย่าไปให้น้ำหนักมากนักว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.4% หรือ 4% ในปีนี้ ที่สำคัญกว่าคือ คุณภาพของการเติบโต

การเติบโตอย่างมีคุณภาพคือ การที่เศรษฐกิจไม่ได้พึ่งพาส่วนใดส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจมากเกินไป ยกตัวอย่าง ในปี 2558 ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.9% แต่ต้องถือว่าเป็นการเติบโตที่คุณภาพไม่สูงนัก เพราะเป็นการโตแบบกระจุกตัวอยู่ในเพียงไม่กี่ภาคส่วนของเศรษฐกิจ เวลาเราถามคนทั่วๆ ไปในช่วงนั้นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นไหม ส่วนใหญ่มักจะตอบว่ายังแย่อยู่ ทั้งๆ ที่อัตราการขยายตัวที่เกือบ 3% ก็ไม่ได้จัดว่าต่ำมาก แต่ที่บรรยากาศทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับตัวเลข GDP เป็นเพราะการเติบโตเกือบทั้งหมดในปีนั้น มาจากภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนของรัฐบาลเป็นหลัก

ถ้าเราแยกการขยายตัวที่ 2.9% ของปี 2558 ออกมาเป็นชิ้นๆ เพื่อดูว่ามาจากส่วนไหนบ้าง ภาคท่องเที่ยวจะเท่ากับ 2.2% การลงทุนภาครัฐ 1.5% การบริโภคเอกชน 1.1% ที่เหลือเกือบทั้งหมดติดลบ แสดงว่าถ้าเราหักเอาภาคท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐออก เศรษฐกิจไทยจะถดถอยถึง 0.8% นี่คือคำตอบว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงคิดว่าเศรษฐกิจยังแย่ เพราะการฟื้นตัวเป็นแบบกระจุกตัว โดยเฉพาะการเร่งลงทุนของภาครัฐในปีนั้นที่เพิ่มขึ้นเกือบ 30% ช่วยทำให้ตัวเลข GDP ดูดี แต่มีคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ถ้ารัฐลงทุนในระดับปกติ เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้แค่ 1% กว่าๆ เท่านั้น

แต่ในปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าภาพเริ่มเปลี่ยนไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มมีคุณภาพมากขึ้นเพราะมีการกระจายตัวสูงขึ้น เห็นได้จากการเติบโตที่ 3.3% ของ 9 เดือนแรกของปี 2559 มีที่มาที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐไม่ได้เป็นแรงส่งหลักของเศรษฐกิจเหมือนในปี 2558 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งเราเริ่มเห็นการฟื้นตัวของการบริโภคที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าสุทธิ ก็เริ่มกลับมาขยายตัว ถึงแม้ตัวเลขจะยังต่ำมาก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี

กล่าวโดยสรุป เวลาดูตัวเลข GDP เราควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของการขยายตัว หรือ “Quality of Growth” มากกว่า “Rate of Growth” เพราะการเติบโตแบบกระจายตัวจะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจได้มากกว่า ถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจโต 4% แต่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ภาคส่วน ผมขอเลือกแบบโตน้อยกว่าแต่เป็นแบบ “Inclusive Growth” ที่ทุกคนได้ประโยชน์ น่าจะดีกว่าครับ