Smartlife ที่ทุกคนต้อง Self-service

Smartlife ที่ทุกคนต้อง Self-service

ตัวเลขการค้าการลงทุนบางอย่างกำลังจะบ่งบอกว่า ประเทศไทยเริ่มหมดเสน่ห์ในการดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและการผลิต

ไม่เนื้อหอมเหมือนในอดีตที่มีการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากประเทศพัฒนาแล้วที่แสวงหาแหล่งผลิตที่มีแรงงานราคาถูก จนประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในบางเรื่อง นอกเหนือจากการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปอยู่เดิม อาทิ แหล่งผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ จนเรานึกชื่นชมตัวเองว่าเป็นดีทรอยส์แห่งเอเชีย เพราะไม่ใช่แค่เป็นฐานการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วทุกมุมโลกด้วย

 

แต่ด้วยผลของการพัฒนาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการรวมกลุ่มของประเทศภายในอาเซียน จนกลายเป็นตลาดเดียวเพื่อรวมพลังให้มีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ เพิ่มอำนาจการต่อรองกับประเทศใหญ่ๆ อีกทั้งมีผลให้การค้าระหว่างกันไม่มีภาษีการนำเข้าและส่งออก ทำให้นโยบายของบริษัทชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็นค่ายตะวันตก หรือค่ายญี่ปุ่น กระจายฐานการผลิตลงไปในประเทศต่างๆภายในกลุ่ม AEC เช่นกรณีอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่กระจายตัวไปในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียซึ่งเหมือนกับเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ประเภทสารพัดประโยชน์ (Multi-purpose vehicle) ซึ่งรถยนต์หลายรุ่นที่ขายอยู่ในประเทศไทยก็นำเข้ามาจากเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมถึงการกระจายแหล่งผลิตชิ้นส่วนไปตามศักยภาพและความสามารถของประเทศนั้นๆ

 

เวียดนามและเมียนมาร์กำลังเนื้อหอมและดึงดูดนักลงทุนเข้าประเทศจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง ทั้งสิงคโปร์และนักลงทุนจากไทย แต่ครั้งนี้ญี่ปุ่นอาจจะไม่ใช่พระเอกหรือดาวเด่น หากแต่เป็นจีนที่กรีฑาทัพนักลงทุนโดยใช้ยุทธศาสตร์ที่ว่าบริษัทคุยกับบริษัท ประเทศคุยกับประเทศ จนเป็นที่มาของข้อตกลงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแบบไร้รอยต่อจากจีนถึงภูมิภาคอาเซียน นั่นเป็นเพราะจีนมีอาณาเขตทางพื้นดินที่เชื่อมต่อถึงกันกับอาเซียน และยุคสมัยนี้ใครๆก็รู้ว่าถ้าขนส่งคนต้องทางอากาศ ที่ทั้งรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ ในขณะเดียวกันการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบต้องทางบกโดยเฉพาะทางรถไฟ (ทั้งความเร็วสูงและความเร็วปานกลาง)  

 

แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยเราจะตื่นตัวอย่างมากกับคำว่า ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน จะเห็นได้จากไม่ว่าเรื่องอะไรต้องต่อท้ายด้วยคำว่า 4.0 ทั้งสิ้น อาทิ การศึกษา 4.0 เทคโนโลยี 4.0 คนไทย 4.0 อุตสาหกรรม 4.0 และเกษตร 4.0 เป็นต้น นั่นคือถ้าเราไม่ปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม ทำงานและใช้ชีวิตให้สอดรับกับบริบทใหม่ในยุคดิจิทัล ดูเหมือนว่าเราจะตกยุคและไม่ทันสมัย ในด้านการบริโภคดูเหมือนว่าจะไม่ต้องห่วงกังวลมาก เพราะเราเป็นนักช้อปนักใช้ที่ไม่แพ้ใครในโลก จะเห็นได้จากอัตราการก้มหน้าซึ่งน่าจะมีใครสำรวจมาบ้างว่า คนไทยใช้สมาร์โฟนในการทำเรื่องต่างๆกี่ชั่วโมงต่อวัน มีธุรกิจและธุรกรรมที่เปลี่ยนรูปแปลงร่างย้ายที่ตั้งไปอยู่บนออนไลน์กี่มากน้อย ตัวเลขการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในโลกเสมือนน่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงมากกว่าการซื้อขายแบบออฟไลน์ในโลกความเป็นจริงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือโชว์รูมหรือร้านค้าจริง ไม่จำเป็นต้องมีมาก แค่กระจายให้ครอบคลุมพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญหรือตลาดเป้าหมายเท่านั้น เพราะลูกค้าหรือผู้บริโภคต่อไปอาจจะเดินเข้าร้านค้าเพื่อทดลองจับต้องสินค้า แต่เมื่อถึงเวลาซื้อขายจริงจะเข้าไปเปรียบเทียบสเปคและราคาทางอินเทอร์เน็ต ตามมาด้วยการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นหลัก นี่จึงเป็นเห็นผลว่าทำไมอะไรหลายๆอย่างในไทยจึงขยับปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สายในระบบดิจิทัลเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต นั่นคือเครื่องจักรจะคุยกับเครื่องจักรด้วยกันเองโดยการอนุญาตจากเจ้าของเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้นๆ

 

วงจรการใช้ชีวิตของเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ยุคแรกแม่บ้านที่เข้าไปเลือกซื้อสินค้าต่างๆในซุปเปอร์มาร์เก็ต สามารถใช้สมาร์ทโฟนส่องไปที่สินค้าที่สนใจ ข้อมูลรายละเอียดตลอดจนราคาและส่วนลดพิเศษของสินค้าตัวนั้นก็จะปรากฏโดยไม่ต้องพลิกดูฉลาก เมื่อส่องไปดูสินค้าประเภทเดียวกันแต่คนละแบรนด์ก็จะขึ้นข้อมูลเปรียบเทียบขึ้นมาให้เห็น เมื่อเลือกซื้อสินค้าที่ถูกใจนำไปใส่ไว้ในรถเข็น ผ่านไปในช่องทางออก รายการสินค้าที่ซื้อทั้งหมดก็จะปรากฏขึ้นบนจอขนาดใหญ่เรียงยาวเป็นหางว่าว พร้อมราคารวมทุกรายการให้เราเลือกจ่ายได้ผ่านบัตรเครดิตหรือเพียงใช้สมาร์ทโฟนแตะพร้อมสแกนนิ้วมือเท่านั้น สำหรับคนทำงานที่ไม่มีเวลาก็สามารถสั่งสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือแอพบนมือถือ โดยเลือกเวลาที่จะมารับสินค้า ห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตก็จะมีบริการทั้งจัดส่งถึงบ้าน (ซึ่งแน่นอนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) หรือมีจุดจอดรถเพื่อรับสินค้า ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็จะขับรถไปรับในเส้นทางที่ตนองต้องผ่านก่อนกลับเข้าบ้าน สินค้าและอาหารต่างๆที่เราซื้อมาเมื่อนำเข้าจับเก็บในตู้เย็น มันจะสแกนรหัสสินค้าและทำหน้าที่เหมือนคลังสินค้าย่อมๆ แสดงสถานะและจำนวนที่เหลืออยู่บนหน้าจอ

 

ยุคต่อไปเมื่ออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน มีความสามารถเสมือนเป็นคอมพิวเตอร์ย่อมๆ อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับโลกเสมือนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถ้าเราป้อนเงื่อนไขและคำสั่งให้กับสินค้าบางรายการที่เราคิดว่าต้องมีติดบ้านอยู่เสมอ เมื่อสินค้าและอาหารบางชนิดในตู้เย็นหมดหรือใกล้หมดมันจะส่งคำสั่งไปที่ร้านค้าที่เรากำหนดไว้เองโดยอัตโนมัติ ดังนั้นอะไรที่เป็นรูทีนกระทำซ้ำๆโดยไม่ต้องใช้ความคิดพิจารณามากจะถูกทดแทนแบบที่หลายๆคนกังวลโดยไม่ต้องสงสัย สิ่งที่เหลืออยู่ก็คืองานหรือกิจกรรมที่เราต้องพึ่งพาอารมณ์ความรู้สึกและการคิดพิจารณาแบบมนุษย์เท่านั้น

 

สิ่งเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในประเทศพัฒนาแล้ว และเชื่อว่าด้วยความที่เป็นโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะขยับเข้ามาในประเทศไทยเร็วขึ้น ดังนั้นเราต้องแยกแยะว่าอะไรที่เรายังต้องการดำรงคงอยู่ในแบบธรรมชาติและความยั่งยืน อะไรที่เราต้านทานกระแสไม่ไหวก็ต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่กำลังจะมา