สร้างแบรนด์ประเทศ

สร้างแบรนด์ประเทศ

ผมเคยมีโอกาสร่วมประชุมกับกรมประชาสัมพันธ์เพื่อระดมสมองจากภาคเอกชน มีตัวแทนจากภาคเอกชนหลายรายได้เข้าไปเสนอความคิด เพื่อพัฒนากรมประชาสัมพันธ์

ซึ่งก็มีไอเดียหลากหลายที่น่าสนใจ ที่จะสามารถนำเสนอกลยุทธ์ต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์ประเทศในรูปแบบต่างๆ ออกสู่สายตาชาวโลกได้อย่างสร้างสรรค์

ซึ่งในประเทศไทยเอง กรมประชาสัมพันธ์ก็มีสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ และโทรทัศน์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เรียกว่าเป็น “ช่องทางการสื่อสาร” ที่มีประสิทธิภาพอีกช่องทางหนึ่งก็ว่าได้ แต่ในขณะเดียวกันบุคลากรที่ทำงานก็จบจากคณะนิเทศศาสตร์มาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าด้วยหน้าที่หรือระบบการทำงาน อาจจะทำให้เรายังไม่ได้หยิบศักยภาพของพวกเขามาใช้สักเท่าไหร่

ผมเคยคุยกับคนทำงานในแวดวงประชาสัมพันธ์ว่า มีหน่วยงานไหนที่ดูแลในเรื่องของการสร้างแบรนด์ประเทศไทย ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ชัด เนื่องจากการทำงานของแต่ละฝ่าย แต่ละกระทรวงไม่ได้ถูกกำหนดทิศทางอย่างชัดเจน

ผมเองก็มีโอกาสทำงานกับหลายๆ กระทรวง ทำให้เห็นถึง“ความแตกต่าง”กันออกไป แต่ละส่วนก็มี“ความแข็งแกร่ง”ในแต่ละเรื่อง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การที่ทุกคนจะช่วยกันสร้างแบรนด์ให้ประเทศไทย โดยที่แต่ละภาคส่วนจะต้องช่วยกันเชื่อมโยง และแชร์ข้อมูลในการทำโปรเจคร่วมกัน โดยดึงเอาจุดแข็งของแต่ละส่วนมาใช้ร่วมกัน

โดยอาจจะมีหน่วยงานที่ควบรวมเรื่องของการบริหารจัดการและกำหนดยุทธศาสตร์วางแผนเพื่อให้การสร้างแบรนด์หรือการค้าขายของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านของงบประมาณและบุคลากร มีหน่วยงานที่มีบทบาทในการทำการสื่อสารประเทศไทยสู่สังคมโลก ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอแผนงานกลยุทธ์ต่างๆให้กับนายกรัฐมนตรี มีการทำงานร่วมกับกระทรวงที่ต้องมีภารกิจทำตลาดในต่างประเทศอีกด้วยถึงแม้จะมีหน้าที่ต่างกันแต่อย่างน้อยก็ต้องมีจุดร่วมกัน โดยเฉพาะสิ่งที่เราต้องการสื่อสารให้คนทั้งโลกเห็นเราว่ามีภาพลักษณ์เช่นไร

ยกตัวอย่างเช่น อยากให้เห็นว่าประเทศไทย “เป็นครัวของโลก” ทุกครั้งที่เราไปเสนอตัวเองแก่ชาวโลกไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดต้องมีการนำเสนอส่วนนี้เสมอ ภาพลักษณ์การเป็นครัวของโลกก็จะชัดเจนขึ้น หรือการกำหนดโลโก้ของประเทศก็ต้องใช้โลโก้เดียวกันทั้งหมดไม่ว่าหน่วยงานไหนไปใช้ และหากจะนำไปใช้ในหัวข้ออื่นๆ เช่น เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานที่ได้การรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมหรือกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องมีรูปแบบเดียวกัน แต่อาจจะเติมข้อความเฉพาะลงไป หรือหน้าตาของโลโก้ ที่อาจจะเป็นการนำมาจากส่วนหนึ่งของโลโก้นั่นเอง ซึ่งก็เหมือนการทำ Corporate Branding ของภาคเอกชนที่ทำกัน ในหลายๆประเทศเขาทำกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง

นอกจากนี้ ควรนำเสนอภาพลักษณ์ที่เรากำหนดออกไปเผยแพร่ในต่างประเทศเพื่อให้ภาพลักษณ์ของประเทศชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวันต้องการนำเสนอประเทศตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงได้ด้วยตัวเอง

จึงมีการทำสารคดีออกเผยแพร่ตามช่องสารคดีต่างๆที่มีการเผยแพร่ในนานาชาติญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน

ถึงเวลาแล้วครับที่ประเทศไทยเราต้องมีหน่วยงานกลางมาทำแบรนด์ประเทศไทยให้โดดเด่นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อแบรนด์ของประเทศโดดเด่นเป็นที่รู้จักเป็นที่ชื่นชมไม่ว่าจะแง่มุมใดเราก็จะทำการติดต่อค้าขายทำธุรกิจก็จะง่ายขึ้นและได้มูลค่าเพิ่ม

เพราะชื่อของประเทศได้รับการยอมรับและนั่นแหละครับ คือ การสะท้อนแบรนด์ประเทศไทย