เจาะลึกผลกระทบนโยบายทรัมพ์ต่อเอเซีย

เจาะลึกผลกระทบนโยบายทรัมพ์ต่อเอเซีย

ผลกระทบของนโยบายสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมพ์ต่อเอเซีย ดูจะเป็นประเด็นค่อนข้างฮอต

ในตลาดการเงินขณะนี้ เห็นได้จากบทวิเคราะห์และข้อเขียนที่ออกมามากมาย แต่ก็ให้ข้อสรุปที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ในเรื่องนี้ สิ่งที่ผู้อ่านต้องตระหนักคือ หนึ่ง ความชัดเจนของนโยบายใหม่สหรัฐ ณ จุดนี้ยังมีน้อย ไม่มีรายละเอียดมากว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้การวิเคราะห์ที่ออกมาล้วนต้องคาดเดาตัวนโยบายจริงว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้ข้อสรุปแตกต่างกัน

สอง สิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐพูดหรือให้ความเห็นประเภทคอมเมนท์เร็วๆ ตามสถานการณ์นั้น อาจไม่ใช่ตัวชี้ที่ดีว่า นโยบายในอนาคตจะเป็นอย่างนั้น เพราะนโยบายที่จะออกมาใหม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองพอสมควร ทั้งในระดับหน่วยงานราชการและกลุ่มที่ปรึกษาของประธานาธิบดีเอง ทำให้เป็นไปได้มากว่า สิ่งที่จะออกมาในที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งที่ตลาดการเงินคาดการณ์กันขณะนี้ 

สาม การทำนโยบายต้องพิจารณาทั้งผลในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งผลระยะสั้นและระยะยาวมักมีเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ต่างกัน เช่น ผลระยะสั้นอาจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือให้ถูกใจผู้ลงคะแนนเสียง แต่ผลระยะยาวคือ รักษาสถานะของสหรัฐในฐานะประเทศมหาอำนาจในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก ซึ่งมีมิติที่ต้องพิจารณามาก ดังนั้น นักลงทุนรวมถึงผู้ทำนโยบายของไทยต้องเข้าใจบริบทหรือมิติเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนหรือการทำนโยบายตามกระแส เพียงเพื่อให้ดูว่าดี ทันเหตุการณ์ แต่กลายเป็นผลเสียในที่สุด เพราะทำเร็วไป หรือมองเรื่องต่างๆง่ายเกินไป

จากที่สหรัฐเป็นประเทศใหญ่ การเปลี่ยนแปลงในสหรัฐมีผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ นโยบายของรัฐบาลสหรัฐ หรือความไม่แน่นอนที่นโยบายใหม่ของสหรัฐสร้างให้เกิดขึ้น ที่กระทบการตัดสินใจของธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก สำหรับผลระยะสั้น ที่จะมีต่อประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทย ผลกระทบน่าจะมาในสองทางคือ หนึ่ง ตัวนโยบายสหรัฐเองที่มีการเปลี่ยนแปลง และ สอง การตอบสนองของภาคธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกต่อนโยบายใหม่ที่สร้างผลต่อเนื่องกระทบมาถึงประเทศไทยในฐานะประเทศที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนหรือประเทศคู่ค้า

วันนี้ที่อยากจะแชร์กับผู้อ่านคือ การวิเคราะห์ผลกระทบระยะสั้นต่อเอเซีย ซึ่งเท่าที่มีการวิเคราะห์ คิดว่าที่สรุปได้ดีขณะนี้ก็คือ กรอบการวิเคราะห์ในนิตยสาร The Economist ฉบับล่าสุดคือ วันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ ที่เจาะลึกผลกระทบสี่ด้านของนโยบายสหรัฐที่จะมีต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงไทย

ด้านแรก คือ อัตราแลกเปลี่ยน จากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้มากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ จากนโยบายธนาคารกลางสหรัฐที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อดูแลเงินเฟ้อ และจากการไหลกลับของเงินลงทุนต่างประเทศจากประเทศตลาดเกิดใหม่เข้าสหรัฐ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้สกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่จะอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะขนาดของการขาดหรือเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งนับตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่ประธานาธิบดีทรัมพ์เข้ามารับตำแหน่ง ค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมากน้อยแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ดังนั้น ยุคดอลลาร์แข็งอาจเป็นแนวโน้มที่ต้องตระหนักในระยะต่อไป

สอง การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผลกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ขึ้นอยู่ว่า แต่ละประเทศพึ่งพาสหรัฐเป็นตลาดส่งออกมากน้อยแค่ไหน สินค้าที่ส่งไปสหรัฐอยู่ในข่ายที่จะถูกตอบโต้โดยมาตรการกีดกันทางการค้าหรือไม่ และประเทศที่ส่งออกสินค้าถูกมองว่าเป็นประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือส่งเสริมการค้าหรือไม่ (currency manipulator) ที่จงใจกดค่าเงินของตนให้อ่อนเพื่อการส่งออก ในประเด็นนี้ ไทยคงต้องระวังมาก เพราะถึงแม้โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวได้ดี แต่เราก็พึ่งสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งมากถึง 11% ของการส่งออกทั้งหมด  

นอกจากนี้ ประเทศไทยก็มีความเปราะบางในหลายเรื่องที่อาจเข้าข่ายถูกตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาการกดขี่แรงงานและการค้ามนุษย์ เช่น กรณีอุตสาหกรรมประมง รวมถึง การถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน คือ ตั้งใจแทรกแซงค่าเงินให้อ่อน พิจารณาจาก ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มีการเกินดุลมากและต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองทางการที่มาจากการแทรกแซงเงินบาทไม่ให้แข็งค่า ประเด็นการแทรกแซงค่าเงินนี้ อาจเป็นประเด็นที่น่าห่วงสุดในกรณีของไทย เพราะสหรัฐคงจะไม่กล่าวโทษเรื่องนี้กับจีนประเทศเดียว แต่คงกล่าวโทษหลายประเทศในเอเซียที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้เงินบาทต้องแข็งค่าและกดดันให้ทุนสำรองทางการลดลง เหมือนกรณีของจีนขณะนี้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

สาม นโยบายตรวจคนเข้าเมืองที่ห้ามคนต่างชาติเข้าสหรัฐ ไม่ว่าเพื่อทำงานหรือลี้ภัย ในประเด็นนี้ ไทยอาจไม่ถูกกระทบมากเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนของประชากรมุสลิมสูง หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ที่พึ่งรายได้ส่งกลับของแรงงานฟิลิปปินส์ในสหรัฐ แต่เรื่องนี้ ผลกระทบต่อไทยอาจเป็นผลทางอ้อม คือ มีแรงกดดันให้คนต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้ามาลี้ภัยหรืออยู่ในไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็จะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไทยต้องเผชิญ

สี่ คือ กำไรส่งกลับของบริษัทอเมริกันที่เข้ามาลงทุนในเอเซีย ที่จะส่งผลกำไรกลับสหรัฐตามนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งจะลดทอนการลงทุนใหม่ที่จะมีในประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะกำไรได้ถูกนำไปลงทุนในสหรัฐแทน เรื่องนี้จะกระทบบริษัทข้ามชาติสหรัฐที่มีเครือข่ายการผลิตในเอเซียเป็นสำคัญ ซึ่งเท่าที่ดูข้อมูล บริษัทข้ามชาติสหรัฐไม่ได้เป็นนักลงทุนหลักในการผลิตในไทยในปัจจุบันเทียบกับบริษัทญี่ปุ่นหรือบริษัทอื่นๆในเอเซีย ทำให้ผลกระทบโดยตรงอาจไม่มาก แต่ถึงจะน้อย ผลกระทบคงเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งจะกระทบการจ้างงานและความเชื่อมั่นของนักธุรกิจอื่นๆต่อการลงทุนในประเทศไทย

จากสี่ผลกระทบทั้งหมดที่ได้พูดถึงนี้ ที่ต้องระวังมากก็คือ ค่าเงินบาทและการถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน ทำให้ทางการไทยควรต้องเตรียมตัว เพื่อลดแรงกดดันและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเตรียมตัวทั้งในระดับเศรษฐกิจและการฑูต

สำหรับผลระยะยาว ยังเชื่อว่า สหรัฐจะไม่ทิ้งเอเซียเด็ดขาด แต่คงพยายามวางตำแหน่งสหรัฐในเอเซียใหม่ เพื่อสะท้อนเป้าหมายของการรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐในเอเซีย พร้อมกับมีรูปแบบของความร่วมมือที่จะไม่เป็นภาระต่อสหรัฐมากเกินไป เมื่อรวมภาระด้านความมั่นคงและการทหาร ซึ่งขณะนี้ สหรัฐก็เริ่มเดินเกมส์ใหม่เรื่องนี้แล้ว เห็นได้จาก ความพยายามที่จะรวมสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้าด้วยกันก่อนให้ได้ ให้เป็นกลุ่มเศรษฐกิจและกลุ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงที่จะทรงพลังที่สุดในเอเซีย เพื่อปักหลักและคานอำนาจประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้คงนำมาแชร์กับผู้อ่านได้ในโอกาสต่อๆ ไป