เดิมพันของประธานาธิบดีทรัมป์ (2)

เดิมพันของประธานาธิบดีทรัมป์ (2)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของ นายโดนัล ทรัมป์

ตามมาด้วยการใช้อำนาจออกคำสั่งประธานาธิบดีกว่า 15 ฉบับ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนและแตกแยกได้พอสมควร แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดเอาไว้ต่อไป 

ซึ่งในความเห็นของผมนั้นเป็นการสะท้อนความเป็นนักธุรกิจของนายทรัมป์ที่ต้องกล้าเสี่ยงกล้าทำ เพราะหากมัวแต่กลัวนี่กลัวนั่นก็จะไม่กล้าตัดสินใจ แต่นิสัยของนักธุรกิจนั้นจะต้องกล้าเดินหน้าไปก่อนและหากดำเนินการไปแล้วต้องเผชิญกับปัญหา ก็จะพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเชื่อมั่นว่าจะต้องแก้ปัญหาให้จงได้ 

ผู้ที่เป็น” นักทำ” นั้น มักจะไม่กลัวปัญหา แต่กลับมองว่าปัญหาและอุปสรรคนั้นเป็นสิ่งท้าทายที่จะต้องบริหารจัดการแก้ไขให้ได้และเมื่อทำได้แล้วก็จะรู้สึกภูมิใจและพึงพอใจเป็นอย่างมากที่เอาชนะอุปสรรคไปได้ หนังสือพิมพ์ Washington Post ได้ตีพิมพ์ประวัติย่อของนายทรัมป์ โดยมีข้อสรุปว่านายทรัมป์นั้นเป็นคนเด็ดเดี่ยวที่ต้องการชัยชนะเป็นหลัก โดยจะอาศัยกลยุทธ์หรือวิธีการใดก็ได้ที่จะให้ได้มาซึ่งชัยชนะดังกล่าว

ในระยะหลังนี้เริ่มมีการวิเคราะห์แนวคิดของประธานาธิบดี ทรัมป์ออกมาในหลายด้านและหลายทัศนะ ซึ่งผมขอนำมาสรุปในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดังนี้ครับ

ประธานาธิบดี ทรัมป์น่าจะมองว่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐในเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นผลมาจากการที่สหรัฐเป็นเหมือนเศรษฐีใจดีที่ถูกปอกลอกโดยประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีเหนือ แต่ประเทศที่เอาเปรียบสหรัฐอย่างเห็นได้ชัดในทัศนะของนายทรัมป์คือเม็กซิโก ภายใต้ข้อตกลงนาฟต้า (ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวเราค่อยมาดูตัวเลขกันครับ)

ดังนั้น การขาดดุลการค้าจึงเป็นเครื่องวัดและเครื่องพิสูจน์โดยเบ็ดเสร็จว่า สหรัฐเสียเปรียบและสาเหตุที่เสียเปรียบก็เพราะนักเจรจาของรัฐบาลสหรัฐ ได้แก่ นักการเมืองที่ถูกครอบงำโดยธุรกิจข้ามชาติและข้าราชการที่ไม่ค่อยมีความสามารถ จึงได้ยอมรับข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐมาโดยตลอด

รัฐบาลสหรัฐอาศัยยุทธศาสตร์ที่จะเจรจาการค้าในลักษณะพหุภาคี คือต้องการเจรจากับหลายๆ ประเทศพร้อมกันในเวลาเดียวกัน โดยเล็งผลเลิศที่จะเปิดตลาดทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเป็นระบบการค้าและการดำเนินธุรกิจแบบเปิดเสรีที่สหรัฐเองมีบทบาทนำในการสร้างขึ้นมาเองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในความคิดของนายทรัมป์นั้นการเจรจาแบบพหุภาคีบั่นทอนอำนาจต่อรองของสหรัฐ จึงจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเจรจาโดยยึดการเจรจาแบบทวิภาคี ซึ่งจะทำให้สหรัฐที่มีตลาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีจะได้เปรียบและสามารถกดดันต่อรองกับประเทศคู่เจรจาอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด 

ทั้งนี้ สหรัฐก็ยังขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าคิดเป็นเงินปีละหลายแสนล้านเหรียญ ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์สรุปว่าสหรัฐมีอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้าสูงมาก ดังที่นาย Wilbur Ross รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขอสหรัฐ กล่าวว่าควรมองว่าประเทศคู่ค้าเป็นเสมือนกับ Supplier ให้กับสหรัฐที่เป็นเสมือนกับบริษัทใหญ่ ดังนั้นสหรัฐจึงจะสามารถเรียกประเทศคู่ค้ามาเจรจาต่อรองได้โดยไม่ต้องไปเกรงใจประเทศอื่นมากจนเกินไป

เดิมพันของประธานาธิบดี ทรัมป์ในความเห็นของผมคือเขาจะระดมอำนาจต่อรองทั้งหมดของสหรัฐ ทั้งในเชิงของอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการทหารมากดดันเพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าไปในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐมากขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือปรับให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เป็นธรรม กับสหรัฐมากขึ้น โดยจะเจรจาเป็นรายๆ ไป

ความเป็นธรรมที่ว่านี้ดูเสมือนว่าจะมีหลักการและแนวคิดดังนี้คือ จะต้องลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐลง จะต้องลดผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางและความมั่นคง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและจะต้องมีการสร้างงานที่ “ดี” (คือให้เงินเดือนสูง) ให้กับคนสหรัฐเพิ่มขึ้นจนสามารถนำไปประกาศเป็นผลงานของรัฐบาลได้

ความเสี่ยงที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ยอมรับโดยปริยายจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว คือความเสี่ยงที่สหรัฐจะสร้างศัตรูไปทั่วสารทิศและประเทศอื่นๆ จะรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ทำให้สหรัฐถูกโดดเดี่ยว ดังที่สำนักงานบลูกเบอร์กเคยมีบทวิเคราะห์ที่เตือนว่า America First จะต้องไม่กลายเป็น America Alone

ปัจจุบันดูเสมือนว่าประธานาธิบดี ทรัมป์จะเร่งรื้อข้อตกลงนาฟต้าก่อน โดยจะเป็นไปได้ว่านาฟต้าจะกลายเป็นความตกลงทางาการค้าแบบทวิภาคี ระหว่างสหรัฐกับแคนาดาและสหรัฐกับเม็กซิโก และเมื่อได้“ต้นแบบ” ข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้สูงว่าญี่ปุ่นและอังกฤษจะเป็นรายต่อไป เพราะนายกรัฐมนตรีอาเบะและนายกรัฐมนตรีเมย์ แสดงความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะเปิดการเจรจากค้ากับประธานาธิบดีทรัมป์ 

ต่อมาคือการเจรจากับจีน ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็คงจะไล่เจรจากับประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ คือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ โดยไทยคงจะต้องรอคิวไปอีกพักหนึ่งครับ