งานหดเพราะหุ่นยนต์

งานหดเพราะหุ่นยนต์

“หุ่นยนต์” อาจนำไปสู่วิกฤติในสหรัฐฯ แต่อาจเป็นทางรอดของจีน !!

มาดูวิกฤติในสหรัฐฯ ก่อนครับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าที่คนสหรัฐฯ จำนวนมากต้องตกงาน เป็นเพราะโรงงานในสหรัฐฯ ย้ายไปจีนกับเม็กซิโกกันหมด รวมทั้งพวกคนต่างชาติเข้ามาแย่งงานคนสหรัฐฯ

ผิด ผิด และผิด ครับ! ไอ้ที่แย่งงานคนสหรัฐฯ คือ หุ่นยนต์ต่างหาก!!

หากคำนวณจากประสิทธิภาพของแรงงานในช่วงปี ค.ศ. 2000 สหรัฐฯ ควรจะต้องใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมถึง 21 ล้านคน จึงจะสร้างผลผลิตได้เท่ากับปริมาณผลผลิตในวันนี้ แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่เพียง 12 ล้านคนเท่านั้นเองครับ

พูดอีกอย่างก็คือ เทคโนโลยีใหม่อย่างหุ่นยนต์และเครื่องจักร แทนที่แรงงานถึงกว่า 9 ล้านคน!!

เมื่อบริษัท Carrier ถูกทรัมป์เรียกไปคุยและขอให้ลงทุนในรัฐอินเดียน่าของสหรัฐฯ แทนที่จะย้ายโรงงานไปเม็กซิโกตามแผนเดิม ผู้บริหาร Carrier ตอบตกลงว่าจะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ Carrier ไม่ได้บอกทรัมป์ก็คือ โรงงานใหม่จะเป็นโรงงานหุ่นยนต์ ซึ่งใช้แรงงานคนน้อยมาก

โรงงานหุ่นยนต์นี่แหละครับ ทำให้เกิดวิกฤติในสหรัฐฯ และเป็นวิกฤติที่ค่อนข้างประหลาด เพราะถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือตัวเลขกำไรของบริษัทในสหรัฐฯ เราจะเห็นว่าตัวเลขสุดแสนจะสวยหรูทุกอย่าง ต้นทุนก็ต่ำลง ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น กำไรก็เพิ่มขึ้น หุ้นก็พุ่งไม่หยุด ปัญหาเดียวก็คือ มันไม่มีการสร้างงานน่ะสิครับ แรงงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่เคยกินดีอยู่ดีเป็นชนชั้นกลาง กลับกลายมาเป็นชนชั้นล่าง หมดงาน หมดเงิน

คาร์ล มาร์กซ์ เคยบอกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงที่แรงงานถูกนายทุนขูดรีด เพราะกำไรไปอยู่ที่นายทุนหมด อย่างนี้คาร์ลมาร์กซ์คงช็อคตาย ถ้ามาพบว่า โรงงานในศตวรรษที่ 21 ยิ่งไม่ต้องใช้แรงงานสักคนเลยด้วยซ้ำ ขณะที่ผลผลิตก็เพิ่ม กำไรก็เพิ่ม หุ้นของนายทุนก็พุ่งทะลุเพดาน

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะบอกว่า ไม่ต้องตกใจไปครับ กลไกตลาดเสรีจะค่อยๆ ปรับตัวของมันเอง แรงงานก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปทำงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น และจะได้เงินเดือนสูงขึ้น เหมือนกับสมัยก่อนที่แรงงานย้ายจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรม

ในช่วงปี ค.ศ. 1900 คนอเมริกันกว่าครึ่งเป็นเกษตรกร ปัจจุบันมีเพียง 2% ที่เป็นเกษตรกร แต่ผลผลิตทางการเกษตรในสหรัฐฯ สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวด้วยเทคโนโลยีการเกษตร ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา คนอเมริกันย้ายไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ให้รายได้สูงกว่าภาคเกษตร และสร้างสรรค์ประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ

นักเศรษฐศาสตร์จึงบอกว่า สมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหุ่นยนต์จะมาแทนที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานก็จะค่อยๆ ปรับตัวและย้ายไปสู่ภาคเศรษฐกิจใหม่ และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมของสังคมยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ที่พูดมาคือทฤษฎี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงช่วงเปลี่ยนผ่านมันโหดร้ายนะครับ เพราะแรงงานเดิมในภาคอุตสาหกรรมไม่มีทักษะเพียงพอที่จะทำงานในภาคเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น แถมนักเศรษฐศาสตร์บางคนก็เริ่มรู้สึกว่า ภัยเงียบจากหุ่นยนต์นี่ดูรุนแรงมากเกินกว่าที่แรงงานจะปรับตัวได้ และส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีแต่จะสูงขึ้น

ถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้าหน่อย ก็จะสนับสนุนแนวคิดค่อนไปทางซ้ายของเบอร์นี่ แซนเดอร์ เสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการและเก็บภาษีจากคนรวยมาปันให้กับคนยากคนจน แต่โดนัลด์ ทรัมป์กลับมาแนวขวาจัด ประกาศก้องว่าจะย้ายโรงงานจากจีนและเม็กซิโกกลับมาสหรัฐฯ และจะลดภาษีธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจลงทุนสร้างงานให้เพิ่มมากขึ้น (ทั้งหมดนี้น่าจะล้มเหลว เพราะถ้าหุ่นยนต์เป็นตัวแย่งงานที่สำคัญที่สุด ถึงย้ายโรงงานกลับมาสหรัฐฯ หรือลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ก็จะเป็นโรงงานหุ่นยนต์ ไม่ใช่โรงงานคน)

คนสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งชอบลูกบ้าของทรัมป์ ไม่ชอบรัฐสวัสดิการของปู่แซนเดอร์ เพราะรัฐสวัสดิการทำให้รู้สึกเหมือนตนเป็นคนจนที่ต้องให้รัฐเลี้ยง สิ่งที่แรงงานสหรัฐฯ ต้องการคืองานที่มีคุณภาพ ให้รายได้ดีเหมือนในอดีต เพราะ “งาน” นอกจากจะเลี้ยงปากท้องแล้ว ยังให้คุณค่าทางจิตใจด้วย คือทำให้คนรู้สึกว่าตนมีค่า ยืนบนลำแข้งของตัวเองและเลี้ยงครอบครัวได้

แต่เท่าที่ดู ลูกบ้าของทรัมป์ก็คงเป็นเพียงลูกบ้า ไม่น่าจะแก้วิกฤติอะไรได้มากนัก

ข้ามทวีปมาที่เมืองจีน เรากลับเห็นว่ารัฐบาลจีนหันมาสนับสนุนโรงงานหุ่นยนต์เต็มที่ โดยมองว่าเป็นทางรอดของจีน สาเหตุเพราะจีนมีปัญหาประชากรที่น่าวิตก เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้จีนกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผ้สูงวัย ปัจจุบันจีนมีสัดส่วนคนงานต่อคนเกษียณที่ 5:1 แต่ในปี ค.ศ. 2040 สัดส่วนนี้จะเหลือเพียง 1.6:1 เท่านั้น สมัยก่อนเคยมีการพูดกันว่าจีนต้องเตรียมขนแรงงานจากแอฟริกาเข้าประเทศ แต่ดูเหมือนวันนี้จีนจะมีคำตอบใหม่แล้ว นั่นคือ ใช้หุ่นยนต์แทนคน

มีรายงานว่า รัฐบาลจีนลงทุนในการสร้างและพัฒนา “โรงงาน 4.0” ปีละ 3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โรงงานใหญ่ๆ ในจีนเริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์แทนที่แรงงาน เช่น Foxconn ผู้ผลิตไอโฟนในจีนได้เริ่มใช้หุ่นยนต์แทนที่แรงงานถึงกว่า 60,000 คน ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็พยายามถ่ายโอนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาคบริการและภาคอีคอมเมิร์ซ

มีการคาดการณ์ว่า จะมีโรงงานสหรัฐฯ ย้ายจากจีนกลับสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะค่าแรงในจีนแพงขึ้น และจำนวนคนวัยทำงานในจีนค่อยๆ น้อยลงเพราะโครงสร้างประชากร ขณะที่โรงงานหุ่นยนต์ในสหรัฐฯ กลับมีต้นทุนที่ถูก นอกจากนั้น ยังมีเทรนด์ใหม่ในวงอุตสาหกรรมคือการตั้งโรงงานให้ใกล้ผู้บริโภค เพื่อจะได้รองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสแฟชั่นได้ทันที และรองรับการสั่งทำสินค้าเฉพาะบุคคล (customization) ซึ่งน่าจะได้รับความนิยมหากเทคโนโลยี (เช่น เทคโนโลยี 4 D Printing) ก้าวหน้าขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ก็จะยังมีโรงงานอีกจำนวนมากที่จะตั้งอยู่ในจีนต่อไป เพราะต้องอาศัยชิ้นส่วนอื่นๆ ในการผลิตจากโรงงานข้างเคียงในจีน หรือต้องผลิตชิ้นส่วนเพื่อส่งให้โรงงานข้างเคียงอื่นในจีนประกอบเป็นสินค้าต่อไป โรงงานเหล่านี้ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นโรงงานที่เดินเครื่องด้วยหุ่นยนต์ เพื่อแก้ปัญหาค่าแรงของแรงงานที่สูงขึ้นและจำนวนคนวัยทำงานที่ลดลง

โรงงานหุ่นยนต์ทำให้เราต้องหันกลับมาคิดว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะทำอย่างไรต่อไป เพราะสมัยก่อนเรามักเชื่อว่า เมื่อคนจีนรวยขึ้น ค่าแรงแพงขึ้น โรงงานก็จะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปที่ประเทศแอฟริกาและประเทศอาเซียนที่ค่าแรงถูกกว่า จากนั้นประเทศเหล่านั้นก็ค่อยๆ สะสมทุน เปลี่ยนจากเศรษฐกิจภาคเกษตรมาเป็นภาคอุตสาหกรรม ไต่ขั้นบันไดของการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนวันนี้จะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะโรงงานส่วนหนึ่งก็จะยังคงอยู่ในจีน อีกส่วนหนึ่งก็จะย้ายกลับไปสหรัฐฯ เพียงแต่เปลี่ยนจากโรงงานคน เป็นโรงงานหุ่นยนต์เท่านั้นเอง

ตอนนี้จึงเกิดศัพท์ใหม่ในงานวิจัยเกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนาว่า การเลิกอุตสาหกรรมก่อนวัยอันควร” (premature industrialization) กล่าวคือประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถขยายภาคอุตสาหกรรมได้อีก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รวยเลย เรียกว่าต้องหาโมเดลการพัฒนารูปแบบใหม่ ฉีกตำราเดิมทิ้ง

ประเทศไทยของเราดูน่าศึกษา (และน่าเป็นห่วง) เป็นพิเศษ เพราะเราเข้าข่ายต้อง “เลิกอุตสาหกรรมก่อนวัยอันควร” ไม่สามารถขยายภาคอุตสาหกรรมได้อีก (เพราะคงไม่มีโรงงานใหม่ย้ายเข้ามาไทยเพิ่ม) ขณะเดียวกัน เราก็กำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

ดูเหมือนสภาพแวดล้อมของโลกจะเปลี่ยนไปทุกวัน ซึ่งต้องการแนวคิดและคำตอบสร้างสรรค์ในการพัฒนาใหม่ๆ แต่ไม่แน่ใจว่านักยุทธศาสตร์ทั้งหลายที่คิดเรื่องปฏิรูปของเรานั้น ยังคงใช้ลูกบ้าขายฝันแบบทรัมป์ หรือยังคงใช้ตำราเดิมที่ควรต้องฉีกทิ้งไปแล้วหรือเปล่า?