ความ “อยาก” เป็นผู้นำ

ความ “อยาก” เป็นผู้นำ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมไปประชุมที่ต่างประเทศได้เจอคนในวิชาชีพเดียวกันหลายๆ คนบ่นกัน

ถึงเรื่องของวิกฤติผู้นำ (Leadership Crisis) ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก (ไม่มีประเทศไทยนะครับ) ก็เลยทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจริงๆ แล้วคนที่เป็นผู้นำแต่ละคนนั้น ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำนั้น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาอยากก้าวขึ้นเป็นผู้นำ แล้วผู้นำหลายๆ คนนั้นจะทราบไหมว่าเมื่อก้าวขึ้นมาแล้วกลับยิ่งก่อให้เกิดวิกฤตยิ่งกว่าเดิม ก็เลยไปค้นข้อมูลจากหลายๆ แหล่งมา พอสรุปเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเกิดแรงจูงใจในก้าวขึ้นเป็นผู้นำไว้ ลองดูตนเองหรือคนใกล้ตัวนะครับว่าตรงกับข้อไหนบ้างไหม

ประการแรกคือเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ (ทั้งเป็นตัวเงิน ผลตอบแทนที่ไม่ใช่เงิน รวมถึงเกียรติยศชื่อเสียง) เนื่องจากคนที่เป็นผู้นำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรธุรกิจจะเป็นตำแหน่งสูงสุด ซึ่งจะตามมาด้วยค่าตอบแทนต่างๆ สูงสุดด้วย แต่ที่คนเหล่านี้ลืมไปคือผู้นำนั้นมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ 

ดังนั้นผู้นำที่มาเพื่อหวังผลตอบแทนอย่างเดียวจึงมักจะนำไปสู่วิกฤตผู้นำ และข้อเท็จจริงในหลายๆ วิชาชีพการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอาจจะได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าไม่เป็นเสียอีก

ประการทีสองคืออำนาจ หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเพราะคิดว่าจะทำให้ตนเองมีอำนาจเหนือผู้อื่นได้ และสามารถสั่งให้คนทำตามในสิ่งที่ตนเองได้ ซึ่งก็เป็นการคิดที่นำไปสู่วิกฤตผู้นำอีกเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันนี้ผู้นำจำนวนมากกลับต้องทำตัวเป็นผู้รับใช้ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับล่างในองค์กร เพื่อที่จะให้คนทำงานทุกคนสามารถทำงานตามหน้าที่ตนเองได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับปัจจุบันระบบในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของผู้นำก็มีมากขึ้นและชัดเจนขึ้น 

ดังนั้นย่อมไม่ง่ายที่ผู้นำจะใช้อำนาจตามใจตนเองแบบไร้เหตุผลอีกต่อไป

ประการที่สามคือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็ยังแบ่งออกเป็นสองแบบย่อยๆ คือเป้าหมายส่วนตัว กับเป้าหมายองค์กร ถ้าการได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้และการได้เป็นผู้นำถือเป็นการบรรลุเป้าหมาย ก็ย่อมนำไปสู่วิกฤตผู้นำอีกเช่นกัน เพราะจะคิดถึงแต่ตนเองเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงตัวองค์กรหรือบุคคลอื่น แต่ถ้าขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อช่วยในการขับเคลื่อน และทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายท่ีได้ตั้งไว้ ก็จะเป็นอีกมุมหนึ่แล้ว การคิดถึงเป้าหมายขององค์กรเป็นหลักจะนำไปสู่ผู้นำที่มีพฤติกรรมที่จะทำเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อตนเอง

ประการที่สี่คือเพื่ออยากจะเห็นคนในองค์กรประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งเจตนาดี เนื่องจากคนประเภทนี้ขึ้นมาเป็นผู้นำ เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการทำให้บุคคลอื่นๆ ในองค์กรได้มีการพัฒนา ได้เติบโต และประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมเพื่อคนอื่นๆ มากกว่าเพื่อตนเอง

ประการที่ห้าคือเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ผู้นำประเภทนี้อาจจะไม่ได้มีความอยากจะเป็นผู้นำมาก่อนเลย แต่เมื่อพบว่าองค์กรกำลังประสบปัญหาหรือผู้นำคนก่อนหน้าตนเองมีปัญหา ก็จะมองว่าการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของตนเองนั้นจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น และทำให้องค์กรไม่ล้มเหลว ผู้นำประเภทนี้มักจะเข้ามาระยะสั้นๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น

ประการที่หก คือพวกที่ไม่ได้มีความอยากจะเป็นผู้นำเลย แต่เมื่อถึงช่วงเวลา โอกาส สถานการณ์​ หรือ ตามหน้าที่ของตนเองก็ต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ คนประเภทนี้ไม่ได้มีความทะเยอทะยานหรือประสงค์ที่จะเป็นผู้นำ แต่เมื่อโอกาสหรือสถานการณ์ที่นำพาให้ต้องเป็นผู้นำ ก็จะเป็นผู้นำที่ไม่ได้คิดถึงตนเองเป็นหลัก เนื่องจากไม่ได้มีความอยากจะเป็นผู้นำตั้งแต่ต้น

จากหกข้อข้างต้น ท่านผู้อ่านลองดูนะครับว่าตัวท่านเอง (ที่เป็นผู้นำอยู่) หรือ บุคคลที่ท่านรู้จัก (ที่เขาเป็นผู้นำ) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยเหตุใด หรือ อาจจะมีข้ออื่นๆ นอกเหนือหกข้อนี้ก็ได้ และขณะเดียวกันคนๆ หนึ่งอาจจะไม่ได้มีแค่แรงจูงใจข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น อาจจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างสองข้อขึ้นไป ที่จะทำให้แต่ละคนอยากจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำก็ได้

ประเด็นฝากทิ้งท้ายไว้คือบางคนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยเจตนาดี (นั้นคือไม่ใช่เพื่อผลตอบแทนหรือเป้าหมายส่วนตัว) แต่ทักษะ ความสามารถนั้นไม่ถึงขั้น ก็สามารถที่จะนำไปสู่วิกฤตได้เช่นเดียวกัน