ลึกลงไปในความขัดแย้ง

ลึกลงไปในความขัดแย้ง

ความขัดแย้งในทุกมิติและทุกระดับของสังคมไทยยากต่อการปรองดองแบบง่ายๆ อย่างที่คนใน

รัฐบาลได้เสนอขึ้นมา เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเพียงปริมณฑลหนึ่งของความขัดแย้งทั้งหมด หากมองเพียงแค่มุมใดมุมหนึ่ง ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหาๆ ได้อย่างแน่นอน

ความขัดแย้งที่ขยายตัวไปทุกปริมณฑล สัมพันธ์อยู่กับความเปลี่ยนแปลงหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายทางสังคมสองแนวทางที่สวนกัน และการพังทะลายของ จริยธรรม” เดิมทางสังคม

การเคลื่อนย้ายทางสังคมเกิดขึ้นในสองด้านด้วยกัน ด้านหนึ่ง ผู้คนที่ครั้งหนึ่งอยู่ในระดับล่างได้ขยับเคลื่อนขึ้นในระดับที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้คนที่เคยอยู่ในระดับสูงกว่ากลับรู้สึกว่าตนเองกำลังตกต่ำลง การเคลื่อนย้ายทางสังคมที่สวนทางกันเช่นนี้ เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่คนสองกลุ่มเผชิญ และปรับตัวได้ไม่เหมือนกัน คนที่ปรับตัวได้ดีขึ้นได้รับโอกาสที่ดีกว่าจากการขยายตัวของรัฐ ขณะเดียวกัน กับคนที่รู้สึกว่าตกต่ำลงกลับรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ดูแลพวกเขาอย่างที่เคยดูแล

โอกาสในการเคลื่อนย้ายทางสังคมเป็น ความหวัง และ เป้าหมาย ของชีวิตผู้คนทั่วไป ดังนั้นการแสวงหาแนวทางในการก้าวหน้าของชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนใฝ่ฝันและพร้อมที่จะอุทิศทุกอย่างเพื่อเป้าหมายของตน

ในบางสังคมและบางช่วงเวลา “ ความหวัง” และ “เป้าหมาย” ของชีวิตผู้คนทั้งหมดสามารถดำเนินร่วมกันไปได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการเกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนสามารถเดินตามความฝันได้อย่างเสมอภาคกัน ตัวอย่างเช่น ความฝันของคนอเมริกัน” (American Dream ) ในช่วงทศวรรษ 1930 ที่กระตุ้นให้คนอเมริกันสร้างเนื้อสร้างตัวกันอย่างแข็งขัน

ต่อมาเมื่อสภาวะทางเศรษฐกิจเริ่มจัดระบบได้ลงตัวมากขึ้น ความสามารถในการสืบทอดชนชั้นก็ได้ปรากฏชัดขึ้นจนทำให้คนรวยก็สามารถส่งต่อความรวยไปยังลูกหลาน ส่วนคนจนนั้นต่อให้พยายามมากเท่าไรก็ไม่มีทางที่จะเดินไปข้างหน้าได้อย่างความฝัน หนังสือเรื่อง Hillbilly Elegy: A Memoir of a Family and Culture in Crisis ของJ.D.Vance สะท้อนภาพนี้ในสังคมอเมริกาได้อย่างชัดเจน น่าจะมีงานเขียนลักษณะนี้ในสังคมไทยบ้าง

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจได้เกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ความผันผวนในทางเศรษฐกิจได้ปรากฏชัดเจนขึ้น กลุ่มคนจนที่ครั้งหนึ่งไม่เคยมีโอกาสในการเลื่อนชนชั้นได้เลย กลับได้รับโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้นจากทั้งนโยบายของรัฐ การสร้างเครือข่ายในลักษณะใหม่ รวมไปถึงการเข้าถึงรูปแบบการผลิตแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น กลุ่มคนจนได้ “ลืมตา อ้าปาก” ได้มากกว่าเดิมมากอย่างที่ไม่เคยคาดหวังมาก่อน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมที่สวนทางกันมากขึ้น แม้ว่ากลุ่มคนที่ได้เปรียบเดิมก็ยังคงได้เปรียบอยู่แต่ก็ไม่ได้รับมากเหมือนเดิม จึงทำให้รู้สึกถึงความสั่นคลอนของชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยมีเสถียรภาพมั่นคง ขณะเดียวกัน คนที่ไม่เคยมีไม่เคยได้มาก่อนในชีวิต ก็กระโดดเข้าช่วงชิงโอกาสอย่างสุดแรงกายแรงใจเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

การเคลื่อนย้ายทางสังคมจึงมีลักษณะของ ขึ้นและ ลง สวนทางกันและเป็นการเคลื่อนย้ายที่ทำท่าเหมือนจะดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเสียด้วย จึงยิ่งส่งผลกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนอย่างลึกซึ้งทีเดียว

ระบบความหมายในความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนหรือ จริยธรรม” ซึ่งทำให้ผู้คนหมายรู้ได้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำก็ถูกกระทบกระเทือนอย่างใหญ่หลวง เพราะ “จริยธรรม” เดิมถูกสร้างขึ้นในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการเคลื่อนย้ายสองทางสวนทางกัน เป็นระบบความหมายในความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ตอกตรึงผู้คนเอาไว้กับสถานะและชนชั้นที่คงที่ไม่แปรเปลี่ยน

ท่ามกลางการเคลื่อนย้ายทางสังคมที่สวนทางกันและการสูญเสียพลังของ “ จริยธรรม”ในการกำกับพฤติกรรมและจิตใจของผู้คนจึงทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะไร้ขื่อแป (Amomie) มากขึ้น ดังที่จะพบเห็นโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น “ผู้ใหญ่” ก็ไม่เป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “เด็ก” ก็ไม่เป็น “เด็ก” หรือการเกิด “สองมาตรฐาน” ในกระบวนการทางการเมือง เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ลึกลงไปในความขัดแย้งที่ปรากฏในสังคม จึงเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างทางสังคมและจะดำเนินไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างสังคมในที่สุด เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรเท่านั้นเอง

สภาวะสังคมไร้ขื่อแปจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร และถึงยอดสุดเมื่อไร ไม่มีใครคาดเดาได้ เพียงแต่ในวันนี้ ก็ภาวนาเพียงแต่ว่าคนในสังคมจะช่วยกันค่อยๆ ระงับความปรารถนาส่วนตัวที่จะส่งผลกระทบกระเทือนคนอื่น หรือส่วนรวมลงบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่กำลังเคลื่อนย้ายไปสูงหรือต่ำลง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมไม่มีใครสามารถแยกตัวไปเสพสุขได้เพียงลำพังหรอกครับ

น่าสนใจนะครับ เพราะหากมองไปที่สังคมอเมริกาก็จะพบว่าการเคลื่อนย้ายทางสังคมที่สวนทางกันก็เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อ “จริยธรรม” ทางการเมืองอย่างมากทีเดียว เราคงต้องรอดูต่อไปว่าคนและสังคมอเมริกันจะจัดการกับปัญหาลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ได้อย่างไร เผื่อเราจะหยิบมาเป็นตัวอย่าง หรือในทางกลับกัน หากเราจัดการปัญหาของเราได้ก่อน ก็จะได้สอนคนอเมริกันครับ