ธุรกิจผู้สูงวัยในญี่ปุ่น

ธุรกิจผู้สูงวัยในญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก

ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 128 ล้านคน ประมาณร้อยละ 56 หรือ 72 ล้านคน มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จากประมาณการของ Japan Research Institute

พบว่าตั้งแต่ปี 2551 จำนวนครัวเรือนญี่ปุ่นที่หัวหน้าครอบครัวมีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนร้อยละ 40 และคาดว่าในปี 2568 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับฐานปี 2543 จากการสำรวจของ The Nikkei พบว่า กลุ่มผู้ซื้ออายุ 45 ปีขึ้นไป เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและความพึงพอใจในการบริโภคสินค้าและบริการ การสำรวจของสำนักงานรัฐสภาญี่ปุ่น (Japan Cabinet Office) รายงานว่า ร้อยละ 44 ของผู้อยู่ในวัย 20-29 ปี พอใจกับความมั่งคั่งทางวัตถุ (Material Wealth) ร้อยละ 66 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญกับความสุขทางใจ(Mental Happiness) ผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคสูงวัยที่เป็นตลาดเป้าหมายสำคัญ ที่เน้นประเด็นเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ประโยชน์ สะดวก โดยผลิตสินค้าที่สำคัญดังนี้

1.อาหารเสริมสุขภาพและโภชนาการ เป็นสินค้าที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 เป็นอาหารในลักษณะ Paste ที่สามารถรับประทานได้ทันทีไม่ต้องปรุงเพิ่มเติม เหมาะกับผู้สูงอายุทีมีปัญหาสุขภาพฟัน หรือการบดเคี้ยวอาหาร มีปัญหาในการกลืนอาหารด้วยลิ้นและขากรรไกร อาหารกลุ่มนี้เน้นเรื่องสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ครบตามหลักโภชนาการในแต่ละมื้อ

2.สินค้าด้านการแพทย์และสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ไม่ต้องเป็นภาระให้แก่ผู้อื่น ตามลักษณะสังคมญี่ปุ่นที่ผู้สูงอายุจะอยู่โดยลำพังเป็นส่วนใหญ่ เช่น บริษัท Yasukawa Electric ที่พัฒนาเครื่องมือช่วยการเดินที่เรียกว่า Ankle Assisting Walking Device เพื่อช่วยผู้ป่วยอัมพฤกษ์ทั่วประเทศเฉลี่ยปีละ 300,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนเป็น 3 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า

3.เครื่องสำอาง ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นให้ความสนใจต่อการดูแลสุขภาพอย่างมาก ยินดีจับจ่ายสินค้าที่ให้คุณประโยชน์ในการบำรุงรักษาผิวหน้าและร่างกาย อาทิ ครีมอาบน้ำ ครีมบำรุง ผลิตภัณฑ์เสริมกระชับผิว ครีมกระชับรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น

สำหรับบางธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับการบริการผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น Supermarket บางรายมีการปรับเปลี่ยนเวลาเปิดบริการให้เช้าขึ้น จากเดิม 9 โมงเช้า เป็น 7 โมงเช้า เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้สูงอายุ ที่มักตื่นมาทำธุระและกิจกรรมต่างๆ แต่เช้าตรู่ บางแห่งเพิ่มบริการรับจัดงานศพแบบเรียบง่ายในราคาถูก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากบริษัทจัดงานศพใหญ่ๆ มีค่าบริการที่สูงมาก

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น ปัจจุบันธุรกิจภาคเอกชน 500-600 บริษัท หันมาจับธุรกิจสร้างบ้านพักเพื่อดูแลผู้สูงวัยอย่างจริงจัง บ้านพักที่สร้างขึ้น มีความละเอียดอ่อน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมมีผู้ให้บริการดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด สร้างบรรยากาศเสมือนโรงแรมมาตรฐานระดับ 5 ดาว แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นบ้านพักคนชรา

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุโดยรวมในญี่ปุ่นปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง 8 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.56 ล้านล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังถึง 10% รายได้เฉลี่ยต่อปี 4.54 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.452 ล้านล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้น 5.1% บริษัท โตเกียว มารีน นิชิโตซามูเอล จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในธุรกิจนี้ มีผลประกอบการอันดับที่ 21 เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ ปี 2543 มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 11 อาคาร รวม 498 ห้อง อยู่ในหลายเมือง ทั้งโตเกียว เกียวโต คานาคาวา และนากาโน จับกลุ่มลูกค้าระดับ Hi-End โดยแบบ Hyldemoer มีค่าแรกเข้า 10 ล้านบาท ส่วน Hutte มีค่าแรกเข้า 5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรายเดือนเฉลี่ย 100,000 บาท

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 10 ล้านคน คิดเป็น 14.9% ของประชากรทั้งประเทศ อีก 25 ปี ข้างหน้า หรือในปี 2583 ผู้สูงอายุของไทยจะมีสัดส่วนถึง 32.1% หรือราว 20.5 ล้านคน เป็นตลาดผู้บริโภคเป้าหมายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มที่มีพลังและอิทธิพลต่อตลาดมาก

ท่านผู้ประกอบการจึงควรใช้ความรู้ความสามารถให้ความสำคัญกับนวัตกรรมผลิตสินค้าและบริการ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล ผมเชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมที่ตลาด Diaper (ผ้าอ้อม) สำหรับผู้สูงอายุ เติบโตสูงกว่าตลาด Diaper ของเด็ก เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ถ้าช้าจะไม่ทันการนะครับ...