จากโรลส์รอยซ์ สู่บรรษัท?

จากโรลส์รอยซ์ สู่บรรษัท?

โรลส์รอยซ์ตกเป็นข่าวอื้ออึงเมื่อบริษัทยอมรับผิดเรื่องการให้สินบนในหลายประเทศ

และได้ลงนามข้อตกลงกับสำนักงานปราบปรามทุจริตของรัฐบาลอังกฤษ (SFO) กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (DOJ) และสำนักงานอัยการของประเทศบราซิล ยอมจ่ายค่าปรับรวมเกือบ 30,000 ล้านบาท

นอกจากความผิดในประเทศไทยแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศ อาทิ บราซิล จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย ไนจีเรีย อิรัค

เนื่องจากมีกรณีเกี่ยวข้องกับ ปตท.บางกลุ่มจึงอ้างว่า ในเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูป การแปรรูปต้องเป็นสาเหตุ! ดังนั้น จึงควรจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาควบคุมดูแลกิจการปิโตรเลียมทั้งระบบ เป็นการฉวยโอกาสด่วนสรุปอย่างน่าละอายหรือไม่?

อาจจะมีคอร์รัปชันใหญ่ก่อนการแปรรูปแต่ยังไม่ถูกเปิดเผยก็ได้ และนอกจาก ปตท.กับการบินไทยที่ตกเป็นข่าวแล้ว ยังมีรัฐวิสาหกิจไทยอีกหลายแห่งที่ถูก DOJ เผยว่ามีการรับสินบนจากบริษัทข้ามชาติอื่น อาทิ กฟภ. กฟน. ทีโอที โรงงานยาสูบ เหล่านี้ล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 100%

การแปรรูปมีหลายระดับ ตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบองค์กรแต่ยังเป็นของรัฐ 100% เช่น ทีโอที ไปจนถึงการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นต่ำ (ปัจจุบัน 25%) เพื่อให้เข้าตลาดได้แต่ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจ จนถึงการกระจายหุ้นรัฐออกไปมากกว่า 50% ให้พ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรียกกันว่าแปรรูปแบบ สุดซอย

ยิ่งลดความเป็นเจ้าของของรัฐลงไปอีกเท่าใด ก็จะปลอดการแทรกแซงทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น นอกจากลดการแสวงหาผลประโยชน์แล้ว ยังจะลดระบบอุปถัมภ์ที่อุ้มชูบุคคลากรคุณภาพต่ำอีกด้วย ทำให้เกิดผลพลอยได้ในด้านประสิทธิภาพและความโปร่งใส

แต่ต้องฝ่าประเด็นโต้แย้งว่าหากกิจการเป็นสาธารณูปโภคแล้วไม่เป็นรัฐวิสาหกิจจะยังรักษาประโยชน์ส่วนรวมได้หรือไม่? ดิฉันเชื่อว่าได้..ตราบใดที่มีการกำกับดูแลที่ดี รวมทั้งจัดโครงสร้างให้มีการแข่งขันเท่าที่เป็นได้

ประเทศไทยยังไม่เคยมีการแปรรูป “สุดซอย” แต่ต่างประเทศอย่างอังกฤษได้ทำไปมากแล้ว บริษัทโรลส์รอยซ์เองเคยตกเป็นของรัฐอยู่สิบกว่าปีก่อนที่จะแปรรูปกลับเป็นเอกชน แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าแปรรูปแล้วจะต้องกลายเป็นองค์กรที่จ่ายสินบน! เพราะยังมีรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปแล้วไม่ตกเป็นข่าวฉาวอย่างโรลส์รอยซ์อีกมาก อาทิ บริษัท BP ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ปิโตรเลียมระดับโลก

รายงานผลการสอบสวนของ SFO ซี่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับการบินไทย (กรอบสินบน 1,273 ล้านบาท) แสดงให้เห็นว่าการให้สินบนมี 2 ระดับ คือ ให้คนในรัฐบาล กับให้เจ้าหน้าที่ในองค์กร มีการเรียกร้องให้จ่ายสินบนจากตัวแทนเพื่อ จัดการกระบวนการทางการเมือง” มีการนัดพบรัฐมนตรีช่วยว่าการ และมีการระบุขั้นตอนการอนุมัติของ ครม.เป็นงวดหนึ่งของการจ่ายเงิน

หากเป็นบริษัทเอกชนก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องรับสินบน แต่มีระดับเดียวคือเจ้าหน้าที่ในองค์กร การที่รัฐวิสาหกิจมีนักการเมืองมีอำนาจกำกับดูแลหรือให้คุณให้โทษได้ ทำให้การจ่ายสินบนต้องแบ่งกันมากขึ้นและอาจจะแพงขึ้น อีกทั้งมีโอกาสให้เกิดการเรียกสินบนมากขึ้นเพราะผู้เล่นมีจำนวนมากขึ้นและมากชนิดกว่า โดยเฉพาะกรณีนักการเมืองเป็นประเภท “ธุรกิจการเมือง ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยในประเทศไทย

กลุ่มคนที่ด่วนสรุปให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติยังเสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งจะมีการควบคุมการดำเนินงานอย่างละเอียดใกล้ชิดทำให้มีโอกาสคอร์รัปชั่นมากขึ้น เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆมีดุลพินิจที่จะให้การดำเนินงานที่ตนเกี่ยวข้องไปได้ช้าหรือเร็ว มีโอกาสจะเรียกร้องเงินหล่อลื่นเพราะรู้ว่าผู้ประกอบการต้องการให้ธุรกิจเดินได้เร็วตามแผนงาน

ยิ่งใช้ระบบนี้กับการมีบรรษัทที่เป็นของรัฐ 100% จะเปิดทางให้นักการเมืองผู้มีอิทธิพลเหนือบรรษัทเข้ามาแทรกแซงแสวงประโยชน์ได้บ่อยมากขึ้น แต่ระบบสัมปทานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันรัฐกำกับดูแลเฉพาะเรื่องหลักๆ เอกชนสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ได้กำไรมากรัฐก็เก็บผลประโยชน์มาก หากกำไรน้อยก็เก็บน้อยตามโครงสร้างแบบก้าวหน้าที่กำหนดโดยเปิดเผย

เป็นที่สังเกตว่ารายงานผลการสอบสวนของ DOJ ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ปตท. (กรอบสินบน 394 ล้านบาท) กล่าวถึงผู้รับสินบนกลุ่มเดียวคือเจ้าหน้าที่บริษัท ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจแปลว่าความเสี่ยงคอร์รัปชันน้อยกว่าการบินไทย แต่ตรงนี้มิอาจสรุปได้เพราะข้อมูลไม่มากพอ

ถึงแม้การลงทุนของ ปตท.จะไม่ต้องผ่าน ครม.เหมือนอย่างของการบินไทย แต่ในทางปฏิบัติรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจเหนือบอร์ดและผู้บริหาร และในช่วงประชาธิปไตยเต็มใบก็มักใช้อำนาจนั้นอย่างเต็มที่

การแปรรูปสุดซอยจะลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ลดโอกาสการคอร์รัปชั่นให้น้อยลง ยิ่งประเทศถูกครอบงำด้วยธุรกิจการเมืองมากเท่าใด การไปสุดซอยก็จะลดคอร์รัปชั่นได้มากเท่านั้น อาจเพราะ ปตท.ไม่ไปสุดซอย จึงมีกรณีฉาวอย่างสวนปาล์มอินโดนีเซียคอร์รัปชันระดับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องอยู่ที่ ปปช.แล้ว หวังว่าจะเอาผิดให้ได้ทั้งระดับเจ้าหน้าที่และผู้บงการ

กรณีโรลส์รอยซ์ ปปช.ต้องหาคนผิดให้ได้และให้ถูกลงโทษ บางเรื่องอาจจะหมดอายุความ แต่ความจริงไม่มีวันหมดอายุ ต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้โปร่งใสเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับพัฒนากลไกการป้องปรามต่อไป

คนผิดอาจจะหลุดเงื้อมมือกฎหมาย แต่ถ้ารู้ว่าใคร คนไทยที่รังเกียจคอร์รัปชั่นจริงก็ยังสามารถลงโทษทางสังคมได้