ว่าด้วยความพังของวงการ ‘ข่าว’

ว่าด้วยความพังของวงการ ‘ข่าว’

พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านไปสู่การรับข้อมูลข่าวสารในแพลตฟอร์ม

ออนไลน์ค่อนข้างมาก ความต้องการเข้าถึงข่าวสารแบบ ทุกที่ ทุกเวลา แปรผันไปตามอุปกรณ์การสื่อสารแบบพกพาที่เชื่อมโยงเรากับแหล่งข่าวได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์คือพื้นที่การส่งข่าวสารสำคัญที่ทำให้ข้อมูลไหลเข้ามาสู่ระบบการรับรู้ของเราผ่านกลไกการทำงานและการคัดกรองของเครื่องจักรในตามแต่กฎเกณฑ์ของแต่ละแพลตฟอร์มจะกำหนด

แม้นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลข่าวสารจะชี้ว่า ด้วยการทำงานของสื่อออนไลน์ เราไม่จำเป็นต้องวิ่งหาข่าว เพราะถ้าข่าวนั้น ป็อปจริง หรือเป็นที่สนใจจริง มันจะวิ่งมาหาเราเอง ซึ่งด้วยวิธีคิดแบบนี้ นำไปสู่การทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ชื่อว่า “Tracer” เพื่อสร้าง ‘ข่าวด่วน’ หรือ ‘Breaking news’ ผ่านกระบวนการรวบรวมข้อความจากทวิตเตอร์ของคนทั่วโลก เพื่อชงขึ้นมาให้องค์กรข่าวที่เป็นมืออาชีพได้นำไปใช้ต่อในการรายงานข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติการทำข่าวบนฐานของการสร้างเนื้อหาอันเกิดจากสิ่งที่ประชาชนใคร่รู้ใคร่เห็น ตามรูปแบบของการชงประเด็นข่าวจากปุถุชนคนธรรมดาสามัญ หรือที่ภาษาคอมพิวเตอร์เรียกกันว่า ‘User generate content - UGC’ ซึ่งเป็นโมเดลที่เชื่อในการคัดกรองข้อมูลข่าวสารจากคนหมู่มาก เชื่อในภูมิปัญญาของผู้รับสารในสื่อออนไลน์ที่น่าจะเลือกสรรข้อมูลที่ควรรู้และส่งต่อให้กับคนอื่น ๆ ในสังคม ตามระบบกลไกตลาดของข้อมูลข่าวสารที่เสรี

ดังนั้น การส่งต่อในระบบเครือข่ายที่เหมือนใยแมงมุมของผู้รับสารที่เชื่อมโยงถึงกันจึงกลายเป็นช่องทางการสื่อสารในยุคใหม่ของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากกว่าช่องหลักทีเผยแพร่โดยสื่อมวลชน จึงไม่น่าแปลกใจที่สำนักข่าวหลายแห่งต้องย้ายตัวเองมาอยู่บนแพลตฟอร์มสื่อใหม่อย่าง เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ เพราะสำนักข่าวเหล่านี้คิดว่าด้วยเครือข่ายการส่งสารบนสื่อสังคมออนไลน์นี้เองจะมีผู้ส่งสารเป็นพาหะที่แชร์และรีทวิตข่าวของตนไปสู่วงจรการรับรู้ของผู้บริโภค

แม้สำนักข่าวหลายๆ แห่งจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับสื่อใหม่ แต่เราก็จะพบเห็นการล้มหายตายจากของหนังสือพิมพ์ รวมถึงสำนักข่าวจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนความพังพาบของวงการข่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ล่าสุดจากที่นำเสนอในรายการ Tonight show ของ นายจอห์น โอลิเวอร์ ในเรื่องของนักวิชาชีพข่าวได้ตอกย้ำถึงความตกต่ำของวงการที่ แม้สังคมจะมองว่าอาชีพนี้สำคัญต่อสังคมและผลประโยชน์สาธารณะของผู้รับสาร แต่วิชาชีพดังกล่าวดูจะต้องทำงานภายใต้อุดมคติของจรรยาบรรณที่กดดันโดยทุน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการทำข่าวเพื่อความอยู่รอดเชิงธุรกิจมากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งแม้สำนักข่าวต่างๆ จะเป็นแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ก็ตาม แต่ทั้งผู้บริโภค สื่อ หรือเพจต่างๆ ที่เอาข่าวนั้นๆ มาผลิตหรือแชร์ซ้ำต่างไม่เห็นถึงความจำเป็นของการจ่ายในการใช้ข้อมูลข่าวเหล่านั้นแต่อย่างใด อีกทั้งแม้จะมีรายได้จากโลกออนไลน์ที่เข้ามาบ้างแต่ก็ถือว่าประปรายไม่สามารถสร้างหลักประกันแบบเป็นล่ำเป็นสันได้เหมือนกับรายได้ในอดีตที่เคยได้จากเงินโฆษณาบนหน้ากระดาษ

ตัวอย่างของความพังในอุตสาหกรรมข่าวที่เกิดขึ้นจะเห็นได้จาก แรงกดดันที่นายทุนเจ้าของกิจการต้องการให้นักข่าวเน้นการนำเสนอข่าวเบา ๆ หรือ ‘Soft news’ เพื่อเอาใจผู้ชม ผู้อ่านมากกว่าจะเป็นข่าวซีเรียส จริงจัง โดยอ้างว่า การทำข่าวเบา ๆ เหล่านี้เอง ก็เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กรข่าวเหลือพอที่จะเอาไปทำข่าวจริงจังที่สร้างผลกระทบเชิงนโยบายสาธารณะ ซึ่งในรายการ Tonight Show ได้เสียดสีปรากฏการณ์การดิ้นรนของอุตสาหกรรมข่าวทำนองนี้ว่า ข่าวหมาน้อยที่ทำเงินและเอาใจคนดู จะทำให้องค์กรข่าวมีรายได้เหลือเจียดมาทำข่าวอิรัก

ความพังของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์และงานข่าวในบ้านเราก็ดูจะไม่ต่างไปจากที่ยกตัวอย่างมาในต่างประเทศแต่อย่างใด หลากหลายสำนักข่าวมีการเลย์ออฟคนออกจากบริษัท ในขณะที่นักข่าวที่เหลืออยู่ในองค์กรเองก็ต้องเพิ่มพูนทักษะ ทำงานแบบมัลติฟังก์ชั่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายคลิป สัมภาษณ์ ถอดเทป ทวิตข่าว นำเสนอ ซึ่งด้วยเน้นการทำเวลากับความเร็วที่ต้องแข่งกับเพื่อนนักข่าวด้วยกัน ทำให้ความผิดพลาดในงานข่าวเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อย อย่างที่เราพบเห็นกัน

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมแรงกดดันจากอำนาจเชิงโครงสร้างส่วนบนของประเทศที่ต้องการเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมข่าวในรูปแบบที่เข้มข้นระดับเข้าถึงตัวบุคคลผ่านร่าง พระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อมวลชน หรือ ส.ป.ท. ซึ่งตั้งต้นด้วยการแทรกแซงเอาความเป็นรัฐราชการในแบบของการควบคุมและตรวจสอบ โดยร่าง พรบ. ดังกล่าวนับเป็นภาพสะท้อนความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของการทำหน้าที่วิชาชีพของบรรดานักข่าวในประเทศ โดยอ้างเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ซึ่งการกำหนดตำแหน่งกรรมการที่พิจารณากำหนดมาตรฐานวิชาชีพให้อยู่ภายใต้การดูแลของข้าราชการ 4 กระทรวงก็ถือเป็นความย้อนแย้งแห่งยุคสมัย ที่นอกจากจะไม่เชื่อในภูมิปัญญาการคัดกรองข่าวสารของคนหมู่มากที่กำลังเป็นเทรนด์แห่งยุคสมัยแล้ว ยังออกแนวถอยหลังเข้าคลองที่เน้นการสั่งการระดับ ‘ท็อปบู๊ท ท็อปดาวน์’ ที่กระชับพื้นที่เข้ามาควบคุมนักวิชาชีพทั้งในระดับองค์การและระดับตัวบุคคลกันเลยทีเดียว

สัญญาณการปิดตัวของสำนักข่าวและการอับจนหนทางของนักวิชาชีพข่าวที่ถูกจำกัดมุม ไม่ทันตั้งตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทุน และรัฐบาลไทย อาจส่งผลระยะสั้นกับตัวนักข่าวเหล่านั้นเองที่คงต้องดิ้นรนหาแนวทางการทำเงินใหม่ๆ ที่พอจะประทังชีวิตรอดไปได้ แต่สำหรับผลระยะยาวที่จะตามมาคือ สังคมอุดมปัญญาที่หดหาย เพราะข้อมูลความรู้ถูกย่อยให้เหลือเพียงความเห็นและข้อเท็จจริงที่เน้นความบันเทิง อันจะลดทอนความเป็นเหตุเป็นผลของสังคมและตัดตอนการตั้งคำถามที่ควรมีควรเป็นในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งท้ายที่สุด คนที่ตกเป็นแพะรับบาปของความพังในอุตสาหกรรมข่าวคงเป็นใครไม่ได้นอกจาก ประชาชนผู้รับข่าวสารอย่างเราๆ ท่านๆ