กลยุทธ์ - พลิกมุมมอง

กลยุทธ์ - พลิกมุมมอง

จากพัฒนาการของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ในปัจจุบันเราได้เห็นรูปแบบ

และวิธีการคิดใหม่ๆ ทางกลยุทธ์กันมากขึ้น เนื่องจากมักจะมีผู้สอบถามมาเป็นประจำว่าปัจจุบันมีวิธีการคิดใหม่ๆ ทางกลยุทธ์อะไรบ้าง สัปดาห์หน้านี้จึงขอรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ เหล่านี้เผื่อท่านผู้อ่านจะสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์บ้าง ประเด็นสำคัญคือเวลาคิดจะต้องสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรและธุรกิจของตนเองให้ได้

เริ่มจาก Subscription model ซึ่งจริงๆ ก็คือ ระบบสมาชิกแบบดั้งเดิม เพียงแต่เป็นอีกทางเลือกของหลายๆ ธุรกิจในการเปลี่ยน Business model ใหม่ โดยแทนที่จะรับเงินจากลูกค้าจากการขายสินค้าหรือบริการในแต่ละครั้งเป็นการใช้ระบบสมาชิกแทน ทำให้ธุรกิจได้เงินมาล่วงหน้าและหลายๆ ครั้งการใช้หรือซื้อในสินค้าและบริการของลูกค้าก็อาจจะไม่คุ้มกับค่าสมาชิกที่เสียไปล่วงหน้า ตัวอย่างของธุรกิจที่นำระบบ Subscription model มาใช้แล้วตอนหลังขยายกิจการไปทั่วโลกคือ Netflix ผู้ให้บริการหนังและซีรี่ย์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แนวคิดที่สองคือ Freemium ซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้กันเยอะในบรรดา Application ต่างๆ โดยลูกค้าสามารถดาวน์โหลดแอพมาใช้ได้อย่างฟรีๆ แต่ถ้าต้องการที่จะใช้คุณสมบัติบางอย่างเพิ่มขึ้นหรือใช้ให้เต็มที่ จะต้องเสียเงินมากขึ้น ดังนั้น จึงกลายเป็น Free + Premium

จากจุดเริ่มต้นของ Freemium ก็เลยมีวิธีคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผสมคำและผสมความคิดตามมาหลายประการ อาทิเช่น Masstige ที่เป็นการคิดกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างพวก Mass + Prestige เหมือนยี่ห้อเครื่องหนัง Coach ที่จับลูกค้าตรงกลางระหว่างความเป็น Prestige และ Mass นอกจาก Masstige แล้วก็ยังมี Massclusivity ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง Mass + Exclusive เช่นที่เราจะเห็นขนมปัง หรือ ปาท่องโก๋ ที่เริ่มออกแนว Chaco (ผสมถ่าน) ดูแล้วมีความแตกต่างแต่คนทั่วไปก็สามารถหาซื้อได้

แนวคิดที่สามคือ Free model ซึ่งก็คือการเปิดให้ใช้สินค้าหรือบริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตัวรายได้นั้นแทนที่จะได้มาจากการขายสินค้าหรือบริการจะได้มาจากการเปิดพื้นที่ให้โฆษณามากกว่า ตัวอย่างเช่น Google หรือ Facebook หรือ บรรดาหนังสือพิมพ์ที่แจกฟรีตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ

แนวคิดที่สี่คือ Platform strategy ที่ธุรกิจแทนที่จะขายสินค้าหรือบริการ แต่จะนำเสนอ Platform หรือตลาด หรือช่องทาง เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน โดยรายได้ที่จะได้รับก็จะมาจากค่าธรรมเนียมแทนที่จะเป็นค่าขายสินค้าหรือบริการ เช่น กรณีของ AppStore หรือ PlayStore ที่ทำตัวเป็น Platform ให้นักพัฒนาโปรแกรมสามารถนำโปรแกรมของตนเองมาวางจำหน่าย เป้าหมายของการใช้ Platform strategy คือให้มีผู้ขายและผู้ซื้อมาที่ Platform ของตนเองให้มากที่สุด

แนวคิดที่ห้าคือ Jobs-to-be-done เป็นการคิดกลยุทธ์ โดยแทนที่จะมองในด้านของการขายสินค้าและบริการ จะมีกรอบความคิดที่เปลี่ยนไปและมองว่าลูกค้าซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อทำงานบางอย่างให้สำเร็จ ไม่ใช่เพราะต้องการตัวสินค้าและบริการจริงๆ เช่น คนซื้อลูกอมไม่ใช่เพราะต้องการลูกอมแต่ต้องการเสริมสร้างความมั่นใจ (ปากไม่มีกลิ่น) หรือ สามารถพูดได้ติดต่อกัน 6 ชั่วโมง (กรณีสอนหนังสือ) ดังนั้น เวลาคิดในเชิงของ Jobs-to-be-done คู่แข่งของลูกอมจะไม่ใช่ลูกอมยี่ห้ออื่นๆ แล้วแต่อาจจะเป็นน้ำยาดับกลิ่นปาก หรือ แม้กระทั่งน้ำเปล่า

แนวคิดทั้งห้าประการเบื้องต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของวิธีการคิดใหม่ๆ ทางกลยุทธ์ จริงๆ ยังมีอีกหลายวิธีเช่น เรื่องของ P2P หรือ Peer to Peer (หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Sharing Economy) หรือ การสร้าง Ecosystems แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีแบบไหน สิ่งที่สำคัญคือการปรับแนวคิดข้างต้นให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจตนเอง ไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมที่สุด จะต้องอ่านและดูตัวอย่างเยอะๆ แล้วค่อยปรับใช้กับองค์กรของเรา