ปัญหาทุจริตคอรัปชันของประเทศไทย

ปัญหาทุจริตคอรัปชันของประเทศไทย

ข่าวที่ฮือฮาได้รับการจับตาไปทั่วโลก คือ ประกาศนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่

ของสหรัฐอเมริกา ที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วโลก คือ กรณีลงนามห้ามชาวมุลลิมจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 90 วัน ที่ทำให้เกิดต่อต้านจากหลายๆ ประเทศ รวมทั้งชาวอเมริกันบางส่วนที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นรายวัน การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนทางใต้กั้นระหว่างประเทศเมกซิโกและสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงประกาศถอนตัวออกจากกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิก (TPP) ที่สหรัฐอเมริกาโดยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบานาเป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการก่อตั้ง ซึ่งผลกระทบยังน่าจะเกิดติดตามมาอีกมาก ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังมินับถึงมาตรการในการปกป้องและกีดกันทางการค้ากับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่กำลังจะติดตาม นับว่าในระยะเวลาอันสั้นนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับประชาคมโลกได้พอสมควร

สำหรับข่าวอื้อฉาวในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก็มีอยู่ 2 เรื่อง กรณีที่สำนักงานต่อต้านการทุจริตของอังกฤษ (SFO: Serious Fraud Office) ได้ออกมาเปิดเผยว่าบริษัท โรลส์-รอยซ์ ถูกศาลอังกฤษสั่งให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินถึงกว่า 30,000 ล้านบาท ภายหลังสำนักงานต่อต้านการทุจริตของอังกฤษ ร่วมกับทางการของสหรัฐ และบราซิล ใช้เวลาถึง 5 ปี ตรวจสอบจนพบการกระทำผิดถึง 12 ครั้ง ใน 7 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย ไนจีเรีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการจ่ายสินบนที่พัวพันกับรัฐวิสาหกิจของขนาดใหญ่ของไทยถึง 2 หน่วยงาน คือ บริษัทการบินไทย และบริษัท ปตท ซึ่งก็ทำให้รํฐบาลนี้ที่ประกาศต่อต้านการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติต้องรีบออกมาจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยมีกำหนดระยะเวลาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เป็นที่น่าสนใจว่าในที่สุดแล้วจะสามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีสินบนการบินไทย ทั้งนี้ สื่อมวลชนไทยหลายแห่งได้เปิดเผยรายชื่อประธานบอร์ด รวมถึงดีดี ของการบินไทย ในช่วงที่เกิดเหตุ คือระหว่างปี 2534-2548 แต่หลายๆ คนก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารและประธานคณะกรรมการการบินไทย รวมไปถึงผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในช่วงระหว่างปี 2546-2554

ประเด็นสินบนในประเทศไทยกำลังได้รับการจุดชนวนจากต่างประเทศ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม กรณีของบริษัทการบินไทยที่ในระยะหลังที่มีการบริหารงานประสบกับปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง คงสะท้อนถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ คณะกรรมการหรือบอร์ดการบินไทยที่ผู้คนต่างอยากเข้าไปเป็นกรรมการ เพราะเบี้ยประชุม โบนัสตลอดจนสิทธิผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายที่เกินความจำเป็น สาเหตุสำคัญของการขาดทุนประการหนึ่ง คือการซื้อฝูงเครื่องบิน ที่ปรากฏข่าวว่ามีเครื่องบินจำนวนหนึ่งจอดทิ้งอยู่ที่สนามบินอู่ตระเภา เพราะซื้อมาแล้วก็บินไม่ได้เพราะประสบผลขาดทุนในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถที่จะขายออกไปได้ จึงจอดรอเป็นทรากที่รอการทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย คนที่ซื้อมาก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งมีข้อสังเกตของหลายฝ่ายว่า เกือบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวคณะกรรมการใหม่ ก็จะมีรายการขอจัดซื้อเครื่องบินกัน การบินไทยจึงที่หาผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่บางคน

นอกจากข่าวคราวสินบนแล้ว ในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ก็ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลดัชนีคอรัปชันปี 2559(Corruption Perceptions Index 2016) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่คะแนนของประเทศไทยได้เพียง 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 และลดลงจาก 35 คะแนนในปี 2558 แต่ลำดับคะแนนการคอรัปชั่นของประเทศหล่นลงจากลำดับที่ 76 เลื่อนจากอันดับที่ 76 ลงเป็นอันดับที่ 101 นั้นจากจำนวนประเทศทั้งหมดกว่า 160 ประเทศ สะท้อนถึงว่าการคอรัปชันในประเทศไทยยังแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการปรับตัวดีขึ้น คะแนนที่ลดลงนี้สะท้อนถึงการถดถอยที่เกิดจากขาดการดำเนินมาตรการที่จริงจัง หรือยังไม่มีผลทางปฏิบัติที่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นที่ประจักษ์

คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า คอรัปชันเกิดในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ แต่ดูผลจากค่าดัชนีที่ได้มาจากการสำรวจจากผู้ประกอบการแล้วต้องยอมรับว่า คอรัปชันในประเทศไทยยังคงมีอยู่และเกิดขึ้นอยู่เพียงแต่เปลี่ยนหน้าผู้เล่นเท่านั้นเอง หากมิได้มีมาตรการดำเนินการที่จริงจังเด็ดขาดแล้ว ยากยิ่งที่จะได้ความเชื่อถือจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนหรือเข้ามาร่วมลงทุน โดยเฉพาะอย่างในช่วงนี้เป็นเวลาที่รัฐบาลจะเปิดประมูลโครงการลงทุนจำนวนมากในโครงสร้างพื้นฐาน เช่นระบบขนส่งมวลชน ระบบคมนาคม เป็นต้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ต้องผ่านตัวกลางหรือเอเจ้นต์ ทำอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความโปร่งใส ทำอย่างไรจึงจะทำให้กระบวนการตรวจสอบ หรือกฏหมายมีความศักดิสิทธ์ และสร้างความยำเกรงไม่ให้คนกล้าประพฤติทุจริต คอรัปชัน เพราะกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมีความล่าช้า ยาวนานนับหลายสิบปี จนไม่ทำให้คนที่จะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัว เพราะสามารถต่อสู้คดีไปยาวนาน จนหลายๆ คดีหมดอายุความไป หรือผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิตไปก่อน หรือหลายๆคดี ก็จะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน ผู้เขียนเชื่อว่าหากสามารถทำคดีทุจริตคอรัปชันใหญ่ๆ นี้ ที่สามารถเอาผู้ตัวการใหญ่และเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษได้ ก็จะเป็นบุญของประเทศและเป็นการสร้างมิติใหม่ในการปราบปรามทุจริตคอรัปชัน