รัฐกรุยทางธุรกิจไทย บุกเมียนมา

รัฐกรุยทางธุรกิจไทย บุกเมียนมา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวสำคัญในเชิงธุรกิจ เกิดขึ้นเมื่อ รัฐบาลไทยนำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 รองนายกรัฐมตรี นำคณะธุรกิจรายใหญ่ของไทยกว่า 20 ราย เยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้งในเมียนมา ตามคำเชิญของนาง“อองซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา 

คณะนักธุรกิจไทยยังมีโอกาสเข้าพบนายติน จ่อ ประธานาธิบดีเมียนมา คนสนิทของนางซูจี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และหารือประเด็นการค้าของทั้งสองฝ่ายให้แนบแน่น

โดยได้ลงนามเอ็มโอยูธุรกิจไทย-เมียนมา รวม 16 ฉบับ ใน 4 กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มการพัฒนาและเติบโตไปด้วยกัน,กลุ่มสร้างรากฐานทางอุตสาหกรรมให้กับเมียนมา,กลุ่มการร่วมพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของเมียนมา และกลุ่มช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลไปด้วยกัน

พร้อมกับตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันภายใน 5 ปีจากนี้ จะมีการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์

การเยือนดังกล่าวยังเป็นเหมือนการ “กรุยทาง” จากภาครัฐ จากการเจรจาระดับ “รัฐต่อรัฐ” ให้นักธุรกิจไทยใส่เกียร์เดินหน้าไปหา “ขุมทรัพย์” ในเมียนมา ที่ยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และความต้องการ (ดีมานด์) สินค้าและบริการในด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเหมือนไทยเมื่อ 20 กว่าปีให้หลัง 

โดยเฉพาะธุรกิจที่เมียนมามีความต้องการสูง ฐานที่เพิ่งเปิดประเทศ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ก่อสร้าง สถาบันการเงิน ค้าปลีก และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

ล่าสุด เมียนมายังรับปากที่จะไฟเขียวให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)​เปิดให้บริการ ขณะที่ไทยยังขอให้เมียนมาพิจารณาอนุมัติให้ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิตเข้ามาลงทุนในเมียนมา รวมทั้งให้พิจารณาใช้เงินบาทและเงินจ๊าดในการค้าขายระหว่างกัน

จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมานักธุรกิจไทยหลายราย ขยาดที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศแห่งนี้ จากกฎระเบียบการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง หลายรายที่เข้าไปลงทุนจึงมีอันต้อง“ม้วนเสื่อ”กลับบ้าน  

การเยือนครั้งนี้ จึงเป็น “นิมิตรหมาย”ที่ดี ในการเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนร่วมกันในอนาคต ในภาวะที่นักธุรกิจไทย ต้อง “บริหารความเสี่ยง” จากวิถีการค้าและการลงทุนโลก ที่กำลัง “แปรปรวน” จากการดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ1 ของโลก อย่างสหรัฐฯ ภายหลังได้ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ กับนโยบายชาตินิยม โดยเฉพาะการพยายามหาแนวทางลดการขาดดุลการค้ากับเม็กซิโก และจีน 

ซึ่งอาจกระทบต่อการค้าไทยทางอ้อม ฐานที่ไทยที่เป็นคู่ค้ากับจีน โดยกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน อาจทำให้สินค้าส่งออกหลักของไทยมีส่งออกลดลง

การหันหาพึ่งพาการค้ากันเองในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ให้มากขึ้น จึงน่าจะเป็นทางออกหนึ่ง ในการลดแรงปะทะทางการค้า 

สร้างความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจอย่างเกื้อกูนกันในอาเซียน