เมื่อวีพีเอ็นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

เมื่อวีพีเอ็นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

"การใช้วีพีเอ็น คือการเข้ารหัส โดยส่งข้อมูลผ่านท่อ ทำให้อ่าน หรือดักฟังข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้"

ผมเองไม่คาดคิดว่า วีพีเอ็นจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องด้วยวีพีเอ็น ย่อมาจาก Virtual Private Network หรือเครือข่ายเสมือนจริงแบบส่วนตัว ทำให้ผู้ใช้ที่ทำงานภายนอกองค์กร ใช้ Resource ด้านไอทีในองค์กรเสมือนอยู่ในองค์กร

วีพีเอ็น อยู่คู่กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาแล้วมากกว่า 20 ปี เนื่องด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้นอาจไม่ปลอดภัย มีผู้ไม่ประสงค์ดี ขโมยข้อมูลและถอดรหัสข้อมูลได้ การใช้วีพีเอ็น คือการเข้ารหัส โดยส่งข้อมูลผ่านท่อ ทำให้อ่าน หรือดักฟังข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้

สัปดาห์ก่อนประเทศจีน หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ได้รายงานว่ารัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้วีพีเอ็นในประเทศ ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนที่ใช้วีพีเอ็น เพื่อเลี่ยงไฟร์วอลล์ของประเทศ ที่รู้จักกันในชื่อ เกรท ไฟร์วอลล์ (Great Firewall)

โดยเกรท ไฟร์วอลล์นี้ เป็นไฟร์วอลล์ประจำชาติที่บล็อกเว็บไซต์เกือบพันเว็บไซต์ที่ทางการเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยมีเว็บดังหลายเว็บรวมไปถึงกูเกิล ทวิตเตอร์ ดร็อปบ็อกซ์ เฟซบุ๊ค และยูทูบซึ่งมีคนหลายร้อยล้านคนในจีนที่ต้องการเข้าถึงเว็บเหล่านี้โดยใช้เครือข่ายวีพีเอ็น รัฐบาลจีนจึงต้อง "Clean Up s" หรือล้างบางอินเทอร์เน็ต คอนเนคชั่น

การล้างบางนี้ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรมไอที (Ministry of Industry and Information of Technology) ซึ่งประกาศว่าในเวลา 14 เดือน จนถึงปี 2561 ไล่ล่าวีพีเอ็นเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการวีพีเอ็นในจีน รวมถึงคนที่สร้างวีพีเอ็นใช้งานเอง โดยไม่ได้ลงทะเบียนกับทางการ เนื่องด้วยวีพีเอ็นเป็นการเข้ารหัส Encryption Internet Traffic ซึ่งหลบเลี่ยงเกรท ไฟร์วอลล์ที่คอยดักตรวจสอบอยู่ได้

ดังนั้น โดยกฎหมายฉบับนี้หากใครจะใช้วีพีเอ็นต้องแจ้งรัฐบาลเพื่อตรวจสอบ เพราะหากไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐบาล จะกลายเป็นวีพีเอ็นเถื่อนและเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

จากประสบการณ์ที่ผมมีโอกาสไปจีน และได้ลองใช้วีพีเอ็น พบว่า เกรท ไฟร์วอลล์ของจีนทันสมัยมาก เพราะรัฐบาลจีนยอมลงทุนก้อนเงินมหาศาลสำหรับเกรท ไฟร์วอลล์ โดยเลือกเทคโนโลยีที่ชื่อว่า DPI (Deep Packet Inspection) ที่วิเคราะห์ได้ว่า แพ็คเกต ประเภทไหนเป็นที่พอยต์ไปยังวีพีเอ็น เซิร์ฟเวอร์ดังๆ ที่มีไอพี แอดเดรส หรือโดเมนที่บล็อกได้

ผมเคยสอบถามเพื่อนธุรกิจประเทศจีนว่าทำไมต้องบล็อกเนื้อหา ไม่ให้ประชาชนเห็นโลกบนอินเทอร์เน็ต คำตอบคือ จีนเป็นประเทศใหญ่ มีความหลากหลายทางประชากร อย่างเช่นชาวจีนเชื้อสายมุสลิม จึงไม่ต้องการให้เกิดการรวมตัวกันบนโลกโซเชียล และทำให้โซเชียลมีอำนาจทางการเมือง เพราะประชากรของจีนมีเป็นพันล้านคนทำให้ควบคุมสถาณการณ์ได้ยาก เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศแถบอาหรับ ซึ่งเกิดการปฏิวัติรู้จักกันในชื่อเหตุการณ์อาหรับ สปริงในประเทศอียิปต์ ที่ใช้โซเชียลเป็นตัวก่อกำเนิดกลุ่มทางการเมือง

อย่างไรก็ดี ทางการจีนได้พัฒนาและสร้างโซเชียลต่างๆ อย่างวีแชท (we chat) มาทัดเทียมกับโซเชียลฝั่งอเมริกา คือ เฟซบุ๊ค และวอทสแอพ ใช้งานไม่แตกต่างกัน โดยวีแชทเป็นฟินเทคเติบโตคู่กับโซเชียลโด่งดังจนทุกคนหันมาใช้ หรือเสิร์ช เอ็นจิน ที่ชื่อ ไป่ตู้ (Baidu) ที่ความสามารถมีไม่น้อยกว่ากูเกิล ทั้งหมดนี้จึงกระตุ้นให้คนจีนหันมาใช้สิ่งที่จีนสร้างขึ้นมาเพื่อที่รัฐบาลจีนจะตรวจสอบได้

จากกรณีวีพีเอ็นที่เกิดขึ้นในจีนนี้ ผมหวังว่าในไทย วีพีเอ็นยังคงถูกกฎหมายเพื่อความปลอดภัยในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของทุกคน