ชีวิตประจำวัน ช่วยสร้างนวัตกรรมได้

ชีวิตประจำวัน ช่วยสร้างนวัตกรรมได้

เป็นเวลานานเกือบสิบปีที่ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Idea Marathon แต่งโดยชาวญี่ปุ่นชื่อ Takeo Higuchi

ซึ่งเขาได้พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 เมื่อตอนที่ทำงานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาราเบีย โดยตั้งชื่อเรียกสั้นๆว่า IMS ที่มาจาก Idea-Marathon System ซึ่งสามารถทำให้คนนับพันสร้างความคิดใหม่ๆจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ในทันที โดยเป็นหลักการง่ายๆแต่เรามักจะมองข้ามมันไป

 

ความจริงแล้วการคิดหรือกระบวนการคิด เป็นทักษะที่เกิดจากการปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องเชิงทฤษฎีที่จะเอามาสรุปเป็นสูตรหรือวิธีการที่ชัดเจนในการถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลอื่น หากแต่ต้องผ่านการฝึกฝนและใช้บ่อย ไม่ต่างจากทักษะทางภาษา ทักษะทางช่าง หรือทักษะทางศิลปะ ไม่มีทางลัด ยกเว้นแต่ว่าเราจะเชื่อว่าพรสวรรค์มีจริง และทำให้เกิดคนพิเศษ คนฉลาดแบบสุดๆ ซึ่งถึงมีจริงก็คงเป็นส่วนน้อยมาก

 

สิ่งที่ผมถูกอกถูกใจกับระบบหรือหลักการที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวก็คือ การเทียบเคียงการคิดกับการวิ่ง ถ้าเราอยากวิ่งได้ไกล วิ่งได้ทน วิ่งได้แบบไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย เราก็ต้องทำให้ร่างกายและขาของเรามีความแข็งแรงและเพิ่มพูนสมรรถนะขึ้นทีละน้อย จากการเริ่มต้นวิ่งระยะใกล้ไม่กี่กิโล จนสามารถวิ่งได้เป็นหลายสิบกิโล ดังเช่นที่ทาเคโอะ ฮิงุจิ สามารถคิดไอเดียใหม่ได้มากถึง 50 ไอเดียต่อวัน การคิดสิ่งใหม่ที่แปลกแตกต่างไปจากที่เคยมีมา อาจจะยากในช่วงแรก แต่เมื่อคิดไปเรื่อยๆก็จะสามารถคิดได้ทุกเดือน ทุกสัปดาห์ และกลายเป็นทุกวันในที่สุด โดยคุณภาพของความคิดจะดี และมีคุณค่ามากขึ้นตามลำดับ

 

ทาเคโอะ ฮิงุจิ แนะนำให้ทุกคนมีสมุดพกคนละเล่มอยู่ในกระเป๋าเสมอ เมื่อใดที่มีเวลาแม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด สถานการณ์ใด หรือกำลังอยู่ในเหตุการณ์ใด ให้พยายามคิดสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ เมื่อคิดอะไรได้ให้จดความคิดนั้นไว้ และถ้ามีโอกาสให้เล่าให้คนอื่นฟัง ถ้ามีคำถาม ความคิดเห็น หรือแม้แต่คำโต้แย้งอะไรก็ตาม ก็ให้นำมาคิดต่อ แต่ไม่ให้ท้อถอย นั่นทำให้ผมพกสมุดจดบันทึกคู่กายไว้เสมอ ซึ่งปัจจุบันผมยังใช้ควบคู่กับสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตด้วย

 

ตัวอย่างเหตุการณ์ความคิด ที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน และขณะทำงานในสถานที่ต่างๆ ดังนี้

 

คิดจากวิกฤต คิดจากวิสัยทัศน์ – เมื่อต้องการอยู่รอด จากวิกฤตน้ำมันราคาแพง ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบแก๊สติดรถยนต์ อู่ติดตั้ง สถานีบริการ เติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็ว และด้วยการคาดการณ์ความต้องการพลังงานทางเลือกในอนาคต ได้กลายเป็นวิสัยทัศน์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายเดิม ที่ต้องเร่งเพิ่มเติมรถยนต์พลังงานทางเลือก หรือใช้พลังงานรูปแบบใหม่

 

คิดแบบเป็นไปไม่ได้ ให้เกิดการยอมรับ - ความคิดสุดติ่งสุดโต่ง ดังนิยายแฟนตาซี พร้อมจะเป็นจริงได้ ถ้ามีใครสักคนกล้าพอที่จะลงทุน และแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงได้ จนคนยอมรับในที่สุด อาทิ หุ่นยนต์ทดแทนคน จนอยู่ร่วมกันได้เหมือนเป็นอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง รถยนต์ไร้คนขับ ดินแดนใหม่นอกโลก

 

คิดต่าง ตรงข้ามคนส่วนใหญ่ – เมือสมาร์ทโฟนยุคแรกที่ใช้แท่งสไตลัสจิ้มบนหน้าจอกลายเป็นแนวโน้มที่ใครๆก็ทำ คิดตามก็แค่ต่อยอด แต่ถ้าคิดต่างให้แตกออกไปจากสิ่งเดิมที่ไม่มีมาก่อน ก็จะเป็นผู้บุกเบิก แน่นอนไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ก็เป็นผู้นำ เหมือนกับที่ Apple ได้ทำไว้

 

คิดแบบสบายๆ ในวงสนทนา – หลายความคิด เกิดขึ้นได้เมื่อผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหาร การท่องเที่ยว การพูดคุยสนทนาแบบกันเอง มักทำให้เกิดความคิดดีๆได้ง่ายกว่าการเค้นเอาจากวงประชุมที่เป็นทางการเสียอีก

 

คิดหลายหัว ดีกว่าคิดตัวคนเดียว – ไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง เก่งทุกอย่าง เมื่อวิศวกรผู้เชี่ยวชาญโลหะไร้สนิมที่ไม่เป็นอันตรายเมื่ออยู่ในตัวคน เจอกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ก็สามารถทำให้เกิดการรักษาแบบใหม่ที่เชื่อมต่อกระดูกที่แตกหักได้ หรือทันตแพทย์ช่องปาก เจอกับนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นเซรามิคหรือวัสดุที่มาซ่อมฟันให้กลับมาใช้ได้ดีดังเดิม

 

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่แต่ละคนมีโอกาสประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน เพียงแต่อย่าให้สิ่งนั้นมันผ่านเลยไป แต่ท้าทายตัวเองว่าจะคิดหาหนทางที่จะก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ โดยไม่นำสิ่งที่คนอื่นหรือมีสิ่งอื่นเกิดขึ้นแล้วมาแก้ปัญหา แต่อาจคิดต่อยอดจากคำพูดคนอื่น (คำพูดจุดประกายความคิด) คิดหาคำตอบเพราะไม่ยอมจำนนต่อคำถาม (ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ) คิดรัวๆจากการออนทัวร์ไปในที่ต่างๆ (ท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา) คิดแบบสงบจากการนั่งสมาธิเจริญสติ (ใช้ความนิ่งสยบสิ่งที่เคลื่อนไหว) คิดสวนทางจากสิ่งเดิมที่ทำกันอยู่ (แบบกลับด้าน กลับทิศทาง) คิดให้จบเพื่อสยบไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก (เน้นเชิงป้องกันมากกว่าตามแก้ไข) คิดจับโน่นผสมนี่ให้มีพร้อมสรรพ (รวมมิตรเนรมิตได้ทุกอย่าง) คิดทางลัดเพื่อขจัดขั้นตอนที่ยุ่งยาก (ลดขั้นตอน ตัวกลาง) คิดใหม่ว่าทำยังไงจะได้ไม่ต้องทำเอง (ธุรกิจรับจ้างชำนาญเฉพาะอย่าง) คิดยั่งยืนที่ไม่ฝืนทำร้ายธรรมชาติ (ทุกสิ่งมีค่า ไม่มีขยะ และมลพิษ)

 

คิดสิคิด มีอะไรอีกตั้งมากมาย ที่พวกเราทั้งหลายสามารถคิดฝัน ลงมือสร้างมัน และทำให้เกิดประโยชน์ได้ เหตุการณ์รอบตัวเราที่เกิดขึ้นทุกวัน สามารถกระตุ้นให้เราคิด และผลิตนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้เสมอ เพียงแต่สังเกต ใส่ใจ และคิด เพราะยิ่งคิด เซลล์สมองน้อยนิดยิ่งเพิ่มพูน