เลือกทำที่ได้ราคา

เลือกทำที่ได้ราคา

ประเทศไทยเราประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่รายได้จากภาคเกษตรกรรมของเรา มีมูลค่าน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวและการบริการ

คำถามผมคือ เราควรจะอยู่ในภาคการเกษตรกรรมต่อไปไหมครับ ซึ่งคำตอบเราก็ควรจะอยู่เพราะเรามีพื้นฐานอยู่ในภาคเกษตรกรรมมานาน 

แต่สิ่งที่ผมอยาก “จุดประเด็น” คือทำไมภาคเกษตรกรรมเราไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ที่จริงประชากรในโลกก็มาจากภาคการเกษตรกรรมกันเกือบ 100% ทุกประเทศล้วนต้องผ่านมา แต่เมื่อมีวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีเข้ามา เขาก็เปลี่ยนไปเป็นชาติอุตสาหกรรม 

เราลองย้อนกลับมาดูภาคการเกษตรกรรมของเรากันดีกว่า เราส่งออกข้าว ส่งออกยางพารา ข้าวโพด ผลไม้ และผักออกไปสู่ตลาดโลก ราคาพืชผลของเราเราก็ไม่ได้กำหนดเองแต่มาจากตลาดโลกตามกฎของอุปสงค์(Demand) และอุปทาน (Supply)

อย่างข้าว เมื่อคนผลิตได้เยอะ ราคาก็ตกลง เมื่อยางพาราคนผลิตได้เยอะก็ขายไม่ได้ราคา

ผมจำได้ว่าเวลาผมเด็กๆการที่จะได้ทานผลไม้หรือผักจากเมืองหนาว ต้องรอพ่อแม่ไปเมืองนอกแล้วเอากลับมาให้ทาน หรือถ้ามีขายก็เป็นผลไม้ที่มีอายุยาวเพราะการขนส่งไม่ได้รวดเร็วสะดวกสบายแบบทุกวันนี้ 

แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้บรรดาชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น เลิกทำไร่เลื่อนลอยมาปลูกพืชที่สามารถทำรายได้มั่นคงไม่ต้องปลูกไร่ฝิ่นที่ผิดกฎหมาย ให้มาปลูกผลไม้ ดอกไม้ พืชผักเมืองหนาวแทน ไม่ว่าจะเป็นผลท้อ สตรอเบอร์รี่ กาแฟ ดอกกุหลาบก้านยาว ทิวลิป ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาอยู่ในเมืองไทยมาก่อน ถึงแม้ลูกอาจจะไม่ใหญ่ รสชาติอาจจะสู้ของนอกไม่ได้ ดอกกุหลาบดอกอาจจะไม่ใหญ่เท่าเขา ทิวลิปอาจจะไม่ได้สีสวยแต่มันเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทย อย่างผมเอง ทุกครั้งที่กลับจากเชียงใหม่ต้องซื้อลูกท้อดองกลับมาเป็นของฝาก 

สิ่งที่ผมรับรู้คือผลไม้เหล่านี้เป็นของหายากของคนไทยจึงได้ราคากว่าพืชผลการเกษตรแบบอื่นๆ สิ่งที่ผมอยากจะเสนอคือถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปลี่ยนภาคการเกษตรกรรมที่สามารถเลือกผลิตสินค้าเกษตรที่ได้ราคา วันนี้เทคโนโลยีภาคการเกษตรนั้นก้าวไปข้างหน้าแต่เราดูเหมือนจะไม่ได้นำมาใช้เท่าไหร่

ผมอยากเรียกว่า วันนี้เราควรกำหนดนโยบายภาคการเกษตรเป็นเกษตร 4.0 คือภาคเกษตรไทยต่อไปนี้เราจะเริ่มจากการสำรวจความต้องการของตลาดว่าสินค้าเกษตรตัวไหนที่โลกต้องการสูงในระยะอีก 10 ปีข้างหน้า เราก็จะเลือกผลิตสินค้าตัวนั้นเป็นหลัก

สินค้าตัวไหนผลิตไปก็ไม่ได้ราคาเพราะคู่แข่งเยอะ เราไม่มีความได้เปรียบในการผลิตด้านต้นทุนเราเลิก หากเป็นสินค้าที่ถือเป็นกลยุทธ์ของชาติอย่างข้าวเราก็ต้องมีระบบชลประทาน ระบบการขนส่ง ระบบการตลาดมีวิทยาการ และเทคโนโลยีที่ทำให้การผลิตข้าวของเราต้องมีคุณภาพที่ดีกว่า มีต้นทุนการผลิตที่ดีกว่า และไม่ต้องมาพึ่งฟ้าพึ่งฝนจากธรรมชาติ เราต้องมาวางระบบรางขนส่งจากแหล่งผลิตมาสู่ท่าเรือเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและที่สำคัญคือด้านการตลาดที่เราต้องทำให้สินค้าเรามีแบรนด์ที่เหนือกว่าคนอื่น ทำให้คนเชื่อว่าข้าวจากไทยคือสุดยอดข้าวของโลก เหมือนกับเมื่อพูดถึง

ไวน์ ถ้ามาจากฝรั่งเศส จะได้ราคาที่สูงกว่ามาจากประเทศอื่น และนั่นคือสิ่งที่ตลาดยอมรับ หรือทำไมเราไม่เลือกสินค้าเกษตรที่ได้ราคาอย่างทุเรียน สร้างแบรนด์ทุเรียนไทยอร่อยที่สุดในโลก เราไปปลูกข้าวกันอยู่ได้ทั้งๆที่ราคาต่ำลงทุกๆปี หรือถ้าจะเป็นข้าวทำไมเราไม่ปลูกข้าวที่ราคาสูงแบบข้าวญี่ปุ่น ปลูกแข่งกับญี่ปุ่นเลยไม่ต้องส่งเข้าประเทศเขาแต่ส่งออกไปประเทศอื่นที่คนญี่ปุ่นอยู่เยอะเพราะอย่างไรต้นทุนเราต่ำกว่าอยู่แล้ว ถ้าคุณภาพไม่ต่างเราก็ได้เปรียบแค่ขายในประเทศไทยที่มีชุมชนชาวญี่ปุ่นอยู่มากที่สุดในโลก ดีกว่ามาผลิตข้าวไทยกันทั้งประเทศ เพราะอย่างไรก็ได้ราคากว่าข้าวไทยเสียอีก 

หรือดูตลาดกาแฟสิครับราคาแพงขึ้นเรื่อยๆแต่ก็มี Demand ที่นับวันจะสูงขึ้นสูงขึ้น เราก็ควรเลือกที่จะผลิต หรือแม้กระทั่งดอกไม้ ผักเมืองหนาว ก็ล้วนได้ราคา 

สิ่งที่ผมเสนอล้วนเป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้บอกคนไทยมานานแสนนานแล้วว่า..นี่คือสิ่งที่ภาคเกษตรของเราควรทำ 

เรามาช่วยกันทำให้ชาติของเราก้าวไปข้างหน้าด้วยกันนะครับ