ไข 8 กังวล ให้พร้อมรับกับ “พร้อมเพย์”

ไข 8 กังวล ให้พร้อมรับกับ “พร้อมเพย์”

ไข 8 กังวล ให้พร้อมรับกับ “พร้อมเพย์”

เป็นไงครับ ได้ลองโอนเงินผ่าน “พร้อมเพย์” กันบ้างรึยัง? จริงๆผมแนะนำให้ลองเล่นกันดูนะครับ ครั้งละ 1 บาทก็ได้ เพราะไม่เสียค่าธรรมเนียมและธนาคารก็เลิกนับจำนวนครั้งกันแล้ว บางธนาคารช่วงนี้จัดโปรโมชั่นกันแรงสุดๆให้โอนได้ไม่มีค่าธรรมเนียมไม่ว่าเท่าไหร่ก็ตามเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าได้เข้ามาลองใช้ระบบกันมากขึ้น แต่หลายๆคนก็ยังคงมีความกังวล วันนี้เลยอยากชวนทุกท่านมาลองคิดถึงความกังวลหลักๆ 8 อย่างที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันครับ

  1. ไม่กล้าลงทะเบียน เพราะไม่รู้เป็นไง จริงๆ คือ ไม่ผูกบัญชีก็โอนผ่านระบบ “พร้อมเพย์” ได้ เพราะ พร้อมเพย์” เอาไว้รับเงินครับ ไม่ใช่โอนออก (จริงๆ ผมอยากจะเรียกว่า “พร้อมรับ” มากกว่า เพราะความหมายตรงกว่าครับ) หมายความว่าอะไร? หมายความว่าขาโอนออก คุณๆ ไม่ต้องลงทะเบียนพร้อมเพย์ ก็สามารถใช้บัญชีปกติโอนออกผ่านช่องทาง mobile banking ให้บัญชีคนที่ใช้พร้อมรับ เอ้ย พร้อมเพย์ได้ครับ แค่ต้องมั่นใจว่าเพื่อนหรือญาติคนที่คุณจะโอนให้เค้าผูกบัญชีกับระบบพร้อมเพย์แล้วเท่านั้น เพื่อเป็นการทดสอบ ผมลองโอนเงินในบัญชีตัวเองจากแบงก์ที่ไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ให้เงินไปโผล่บัญชีพร้อมเพย์ของตัวเองดูแล้วครับ ทำได้สบายๆ ไม่มีปัญหาครับ

ดังนั้น คนที่ไม่ผูกบัญชีก็โอนไปให้เพื่อนได้ครับ แค่ถ้าเพื่อนจะโอนกลับมาให้เค้าต้องเสียตังค์ค่าโอนแค่นั้นเอง เพราะคุณไม่ “พร้อมรับ” ผ่าน “พร้อมเพย์”

  1.        กลัวมือถือหาย โดนเอาตังค์ไป อย่างที่บอกข้างบนครับ“พร้อมเพย์” ไม่ได้เอาไว้โอนออกครับ เอาไว้รับอย่างเดียว ดังนั้น โจรขโมยมือถือทำอะไรบัญชีเราไม่ได้เพราะ“พร้อมเพย์” ครับ  แต่ในส่วนอื่นๆ ก็อยู่ที่ระบบรักษาความปลอดภัยของมือถือท่านแล้วครับ
  2.        กลัวข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล จริงๆ ข้อมูลที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ธนาคารเค้ามีหมดแล้วครับ อันที่จริง ธนาคารมีข้อมูลคุณมากกว่านั้นอีกเยอะ ในการลงทะเบียนพร้อมเพย์ เราไม่ได้ให้ข้อมูลใหม่กับธนาคารเลย เพียงแต่ธนาคารต้องให้คุณ “แสดงความจำนง” ว่าคุณจะใช้บัญชีของธนาคารเขาในการรับเงินจากระบบ “พร้อมเพย์” แค่นั้นครับ แต่ในอีกด้าน ผมก็อยากให้คนไทยเริ่มระวังข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นนะครับ ยกตัวอย่างเช่นเวลาผ่านตึกผ่านประตู เราๆ ท่านๆ (รวมถึงผมด้วย) ก็ยื่นบัตรประชาชนให้ รปภ. ไปถือไว้เป็นชั่วโมง ไหนจะถ่ายสำเนาบัตรฯแจกเวลาไปติดต่อธุระทั้งราชการและเอกชน เค้าใช้เสร็จไปโยนทิ้งไหนก็ไม่รู้ (อาจจะกลายเป็นถุงกล้วยแขกเจ้าดังก็ได้) ผมว่าตรงนั้นแหละ น่ากลัวสุดๆ ไม่ต้องมากังวลจุดนี้กับระบบพร้อมเพย์หรอกครับ
  3.        กลัวแบงก์โทรมาขายประกัน อันนี้เข้าใจได้ครับ เพราะผมก็กลัว (ฮา!) แต่อย่างที่เรียนท่านไปแล้วครับว่าโดยส่วนใหญ่ธนาคารมีเบอร์มือถือคุณอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณยังไม่เคยให้แล้วไม่อยากให้ตอนลงทะเบียนพร้อมเพย์ อันนี้ก็สุดแล้วแต่การตัดสินใจของท่านเลยครับ แต่หากบัญชีมีปัญหาเขาก็ติดต่อคุณไม่ได้เช่นกันนะครับ

อีกวิธีหนึ่ง คือผูกแต่เลขประจำตัวประชาชน หรือใช้เบอร์ที่ปกติไม่ได้รับอยู่แล้ว (เช่น เบอร์ซิมที่ใช้ในแท็บเล็ต เป็นต้น) เอาไว้รับเงินอย่างเดียวครับ ไม่รับสาย

  1.        กลัวคนอื่นมานั่งค้นหาเบอร์มือถือตัวเอง คือ กลัวคนจะลองสุ่มเบอร์โทรในระบบพร้อมเพย์ไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าเบอร์ไหนจะขึ้นชื่อ-นามสกุลคุณ  อันนี้อาจจะเป็นความกังวลของคนที่เป็นเซเลบที่ไม่มีนอมินีรับเงิน! ก็ตามที่แนะนำข้อ 4. ครับ คือผูกแต่เลขประจำตัวประชาชน หรือใช้เบอร์ที่ไม่ได้รับอยู่แล้ว
  2.        กลัวถ้าเปลี่ยนเบอร์มือถือ แล้วคนอื่นที่ได้บัญชีไปใช้ อย่างที่บอกครับ “พร้อมเพย์” เป็นระบบรับเงิน ไม่ใช่ระบบโอนเงินออก เพราะฉะนั้น แม้ได้เบอร์มือถือเราไปก็เอาเงินในบัญชีออกมาไม่ได้ นอกจากนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการลงทะเบียน “พร้อมเพย์” ใหม่กับเบอร์นั้นๆ หากมีการโอนเงินไปที่เลขมือถือเก่าของเรา ก็จะเข้าบัญชีที่เราผูกไว้เดิม โดยที่เจ้าของเบอร์ใหม่จะไม่สามารถแตะเงินก้อนนั้นได้ ทีนี้ ก็อยู่ที่เราจะไปแจ้งเปลี่ยนเบอร์ที่ผูกกับบัญชี หรือเจ้าของเบอร์ใหม่ได้ทำเรื่องผูกเบอร์ที่เขาเปิดมากับบัญชีเขา (ระบบจะเช็คว่าชื่อที่ลงทะเบียนมือถือตรงกับชื่อเจ้าของบัญชีหรือไม่)
  3.        กลัวรัฐรู้ฐานภาษี อ้าว! ไหงคิดงี้หละครับ หรือเพราะรู้สึกว่ามีการโกงกินกันเยอะ เลยไม่อยากเสียภาษี? เอาเป็นว่า ณ ตอนนี้ เงินที่โอนกันไปกันมาทุกปีๆ ธนาคารเองยังไม่เคยบอกได้เลยครับว่าเป็นรายได้กันเท่าไหร่ (ธนาคารเองก็คงอยากรู้ครับ) นอกจากนี้ ระบบ “พร้อมเพย์” เป็นของธนาคารพาณิชย์ครับ ไม่ใช่ของรัฐ แถมยังอยู่ในระบบที่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ อยู่ๆ จะมาเปิดเอาข้อมูลไปดูคงไม่ได้แม้จะเป็นรัฐมาขอก็ตาม  ดังนั้น ตรงนี้ไม่น่าแตกต่างจากอดีตหรอกครับ และอันนี้ผมลองคิดเล่นๆ เองนะครับ ว่าเป้าของพี่สรรพากรในอนาคตน่าจะมุ่งไปที่ธุรกิจที่ไม่ยอมรับเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าครับ เพราะมันคงดูน่าสงสัยว่ามีอะไรต้องซ่อน (หรือเปล่า?)
  4. กลัวโดนแฮ็กเอาข้อมูลไป ระบบ “พร้อมเพย์” สร้างขึ้นบนฐานของเทคโนโลยีเดิมครับ ไม่ได้มีอะไรใหม่มาก ดังนั้นความปลอดภัยจึงไม่ต่างจากตู้ ATM หรือระบบออนไลน์ของธนาคาร เพิ่มเติมคือสมาคมธนาคารไทยได้ตั้งหน่วยติดตามเหตุฉุกเฉินทางไซเบอร์ (FS-CERT) เพื่อร่วมกันดูแลระบบให้แข็งแกร่งมากขึ้น อันนี้ไม่เคยมีครับ เพิ่งมีเมื่อปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนแผน e-payment เพราะฉะนั้น เทียบปีต่อปี ปีนี้ระบบแข็งแกร่งขึ้นเยอะครับ หากจะเอาให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าท่านกล้าใช้ ATM ความปลอดภัยของ “พร้อมเพย์” ก็ไม่ต่างกันหรอกครับ

มาถึงตรงนี้ หวังว่าทุกท่านจะเห็นภาพชัดขึ้นนะครับ ว่าระบบ “พร้อมเพย์” ของไทยไม่ได้มีความน่ากังวลในหลายๆด้านอย่างที่คนกลัวกัน ถึงขนาดนายแบงก์ต่างชาติไม่ว่าจากเอเซียหรือยุโรปที่ผมได้พบปะ ยังทึ่งในความก้าวหน้าของระบบการเงินไทยที่พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดขนาดนี้ ผมหวังว่าทุกท่านจะลองใช้ดูซักครั้งก่อนตัดสินใจว่าเหมาะหรือไม่เหมาะนะครับ เพราะในขณะที่เรากำลังทึ่งกับระบบของต่างชาติอย่าง PayPal หรือ Alipay ระบบชองไทยเองก็ไม่ได้ด้อยกว่าที่ใดเลย ลองดูแล้วจะติดใจครับ