เทรนด์จ้องผลประโยชน์ กีดกันการค้า...สู่สงครามเศรษฐกิจ

เทรนด์จ้องผลประโยชน์   กีดกันการค้า...สู่สงครามเศรษฐกิจ

จีน ถูกยกเป็นผู้ได้ผลประโยชน์แทน เพราะคู่ค้าอื่นใน TPP อีก 11 ประเทศเดินหน้าเปิดเสรีการค้า

เพียงสัปดาห์แรกในฐานะประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งถอนตัวจาก Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าของประเทศแถบแปซิฟิกที่สหรัฐฯ เข้าร่วมในปี 2551 ภายใต้การนำของนายบารัค โอบามา (TPP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุม GDP กว่า 40% ของโลก)

การกระทำนี้อาจส่งผลลบต่อสหรัฐ เพราะมีมูลค่าส่งออกไปกลุ่ม TPP เกือบ $ 5 หมื่นล้าน ในปี 2559 นอกจากนี้ อาจจำกัดการค้าของสหรัฐฯ กับภูมิภาคเอเชีย

ประเทศยักษ์ใหญ่ อย่างจีน ถูกยกเป็นผู้ได้ผลประโยชน์แทน เพราะคู่ค้าอื่นใน TPP อีก 11 ประเทศเดินหน้าเปิดเสรีการค้า มีข่าวบางสายว่าจีนอาจจะแทนที่สหรัฐ ใน TPP ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ จีนมีโอกาสเจรจาข้อตกลงใหม่กับประเทศต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มอิทธิพลจีนในเอเชียมากขึ้น 

นอกจากนี้ จีนอยู่ในข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับคู่ภาคี ที่ปัจจุบันประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

นโยบายเพิ่มภาษีปี 2473 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำกว่าเดิม

ตลอดการหาเสียง นายโดนัลด์ ทรัมป์ พุ่งเป้าดุลการค้าจีน-สหรัฐ ดังนั้น ความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้าเป็นสิ่งที่ต้องจับตา และคาดว่าจะส่งผลไม่น้อย ปัจจุบันจีนส่งออกไปสหรัฐ เกือบ 20% ของ GDP จีน เพื่อรักษาประโยชน์ จีนมีท่าทีชัดเจนว่าต้องการร่วมมือกับสหรัฐ โดยนายสี จิ้นผิง แถลงในที่ประชุมผู้นำโลกว่า “ไม่มีผู้ชนะจากสงครามการค้า”

สงครามการค้าแบบรุนแรงรังแต่จะสร้างความเสียหาย สหรัฐฯ มีบทเรียนราคาแพงนี้ในปี 2473 ที่นายเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ประธานาธิบดีขณะนั้น เพิ่มภาษีศุลกากรเพื่อกีดกันการค้า ซึ่งเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว...แต่กลับเลวร้ายลง เห็นจากผลผลิตอุตสาหกรรมดิ่งลงเหวก่อให้เกิดภาวะตกต่ำ หรือที่รู้จักกันว่า “The Great Depression”

การโจมตีจีนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีต่อเนื่อง ตามที่หาเสียง สุดท้ายสิ่งที่ทำได้อาจจะเป็นคำสั่งเพิ่มภาษีนำเข้ารายสินค้า และจีนอาจตอบโต้ เช่นในอดีต เมื่อใดสหรัฐฯ เพิ่มกำแพงภาษี จีนจะมีมาตรการตามมา

นายโดนัลด์ ทรัมป์ เคยบอกว่าจะประกาศสถานะจีนเป็นประเทศปั่นค่าเงิน (currency manipulator) ซึ่งอาจเป็นเพียงลมปาก เพราะกระทรวงการคลังจะประกาศ currency manipulator ได้ ต้องผ่านเกณฑ์ 3 ข้อ 1. การค้าเกินดุลกับสหรัฐ > 2 หมื่นล้านดอลลาร์ 2. เกินดุลการค้าสูงกว่า 3% ของ GDP ของจีน และ 3. แทรกแซงให้เงินอ่อน ซึ่งจีนเข้าเกณฑ์เพียงข้อ 1 

อย่างไรก็ดี สหรัฐ อาจพลิกแพลงเกณฑ์ด้านดุลการค้าข้อ 2 ส่วนข้อ 3 แม้จีนแทรกแซงค่าเงิน แต่เป็นทางตรงข้าม คือทำให้หยวนแข็ง เพื่อชะลอเงินไหลออก (ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงจาก 3.33 ล้านล้านดอลลาร์ สิ้นปี 2558 มาที่ 3.01 ล้านล้านดอลลาร์ในสิ้นปี 2559)