มหาวิทยาลัยกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมมีความจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลหลายๆเรื่องเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย

จึงต้องขยันไปอ่านมติที่ประชุมของสภามหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง เพื่อที่จะลองตอบว่าในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมากนี้ มหาวิทยาลัยไทยได้ตระหนักอะไรบ้างหรือไม่

ผมพบบางประเด็นที่น่าสนใจในเอกสารการประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ในเรื่องของการปรับปรุงหลักสูตรสาชาวิชาต่างๆ มีความทำนองว่า ถ้าหากมหาวิทยาลัยจะดำเนินการให้ได้ผลดีในทางวิชาการ ก็จะต้องผลักดันให้มีการจัดทำหลักสูตรใหม่ และการปรับปรุงหลักสูตรที่มีคุณลักษณะที่จะต้องสามารถเคลื่อนไหว ไปตามความต้องการของสังคม และสามารถเชื่อมต่อกับสังคมได้ เพราะปัจจุบันศาสตร์ต่างๆเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความต้องการที่จะใช้ความรู้ต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากเช่นกันและในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการกันระหว่างศาสตร์ต่างๆ เพราะสิ่งที่ประเทศชาติต้องการคือการเชื่อมโยงและการบูรณาการระหว่างศาสตร์ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้มากขึ้น

ในเอกสารการประชุมยังได้ชี้ให้เห็นข้อจำกัดว่า การจัดทำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยยังเป็นเพียงหลักสูตรที่รองรับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ในอุดมคติแล้วมหาวิทยาลัยมีหน้าที่รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

มติที่เน้นว่าจะต้องปรับหลักสูตรให้เน้นความสัมพันธ์กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงก็เพราะ “สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษากำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรในทุก 5 ปี แต่การปรับปรุงส่วนใหญ่เป็นเพียงปรับให้เข้าเกณฑ์ที่สำนักคณะกรรมการอุดมศึกษากำหนดเท่านั้น" ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มองเห็นว่าการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์บังคับของ สกอ.นั้นไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับอุดมคติของมหาวิทยาลัย

ประสพการณ์ในการต้องทำงานกระดาษตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ก็สรุปได้ในทำนองเดียวกันกับมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ประสพการณ์บอกผมว่าหากมหาวิทยาลัยไม่สามารถที่ “ปลดแอก” จากกฏข้อบังคับของคณะกรรมการอุดมศึกษาก็ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์อะไรที่เป็นประโยชน์จ่อประเทศชาติและสังคมได้ เพราะกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ที่ได้ทำกันขึ้นมาและบังคับคนในมหาวิทยาลัยต้องทำตามนั้นล้วนแล้วแต่ไร้สาระและเปลืองเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างเช่น การต้องทำเอกสาร มคอ. (ย่อมาจาก “มัดคออาจารย์” หรือ “ไม่มีใครอ่าน”)

หลักสูตรที่จะปรับกันตามเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ต้องเดินตามแบบ (template ) ที่ สกอ.สร้างเอาไว้ หากไม่ทำตามนั้น หลักสูตรก็จะไม่ผ่านในระดับต่างๆ เพราะเจ้าหน้าที่ทุกระดับในมหาวิทยาลัยก็จะเกรงกลัวการตัดสินใจเองและจะยึดเอา “แบบ” ของ สกอ.ป็นสำคัญ

หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถที่จะ “ปลดแอก“ สกอ.หรือทำให้กฎเกณฑ์ที่จะใช้ในมหาวิทยาลัยมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่านี้ รับรองได้ว่าหลักสูตรหรือการเรียนการสอนที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่มีวันเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

คนในมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้สูญเสียเวลาอันควรจะเอาไปเตรียมการค้นคว้าวิจัยหรือเตรียมสอนให้ดีขึ้น. เพราะต้องกรอกเอกสารกระดาษที่ทุกคนก็รู้ดี/ตระหนักว่าไม่ได้เรื่อง ที่สำคัญ การปรับปรุงหลักสูตรที่ต้องมาดูว่า “แบบ” ของ สกอ.ว่ายังไงแล้วก็เดินไปตามนั้น ซึ่งไม่ทำก็ไม่ผ่านเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ประเด็นสำคัญในมติของสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการทำให้เกิดหลักสูตรที่งดงามเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงและมองไปในอนาคตจะเกิดไม่ได้เลย หากไม่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยทุกระดับร่วมกัน “ปลดแอก“ สกอ.

ผมไม่รู้เหมือนกันว่า สกอ.จะตระหนักหรือไม่ว่าหน่วยงานของตนกำลังทำฉุดรั้งโอกาสความก้าวหน้าทางความรู้ของมหาวิทยาลัย หากท่านอยากจะรู้ก็ออกแบบสอบถามคนในมหาวิทยาลัยได้นะครับว่า คนทั้งหมดรู้สึกอย่างไรกับบทบาทของ สกอ.

แน่นอน ผมเข้าใจว่าหลายมาตรการที่ สกอ.คิดและสั่งการออกมานั้น ต้องการควบคุมมหาวิทยาลัยบางกลุ่ม แต่หากไม่สามารถแยกแยะกลุ่มหรือทำให้เกิดความยืดหยุ่น มหาวิทยาลัยกลุ่มที่ สกอ.ต้องการควบคุมนั้นกลับสามารถใช้กฏเกณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามหาวิทยาลัยกลุ่มอื่น เพราะอะไร สกอ.ลองไปหาคำตอบเอาเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อจะบอกแก่สังคมว่าคนในมหาวิทยาลัยเองก็ได้พยายามที่จะสร้างความรู้เพื่อประเทศชาติและประชาชน หากแต่เงื่อนไขการบังคับของ สกอ.ทำให้พวกเราต้องงุ่มงามเสียเวลาทั้งกายและใจไปในการ “บำเรอ” ความต้องการใช้อำนาจของหน่วยราชการ เพราะในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การบังคับเรื่องหลักสูตรนะครับ ยังมีอีกมากมาย ที่น่าสงสารอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำกัน ได้แก่ เกณฑ์การวัดสมรรถภาพที่จะใช้ในการพิจารณาความดีความชอบ (ร้อยละสามสิบ) ซึ่งผมเชื่อว่าทาง สกอ.เองก็ไม่รู้ว่าจะวัดตัวเองอย่างไร (ฮา)

ดังนั้น หากสังคมต้องการเห็นมหาวิทยาลัยที่ตอบสนองต่อสังคมมากขึ้น ดีขึ้น ก็ต้องช่วยพวกเราในการจัดความสัมพันธ์ใหม่กับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาครับ

ผมเชื่อว่าคนในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องการที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้แก่สังคม ดังปรากฏในการประชุมที่กล่าวมาข้างต้น เพียงแต่ในวันนี้ เราท้อถอยมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าต่อรองกับคนคุมระเบียบและชี้เป็นชี้ตายนี้ได้ยากเหลือเกิน (เหมือนกับว่าพวกเขาฟังแต่ไม่ได้ยินครับ) ที่เขียนเหมือนบ่นเรื่องภายในะบบอุดมศึกษาในวันนี้ก็เพราะคนมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เหนื่อยอ่อนเหลือประมาณกับ สกอ.แล้วครับ