ภาษาแม่ ภาษาชาติพันธุ์ เสริมศักยภาพในกลุ่มอาเซียน

ภาษาแม่ ภาษาชาติพันธุ์ เสริมศักยภาพในกลุ่มอาเซียน

น้อยคนที่จะทราบว่าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกๆ ปีเป็น “วันภาษาแม่สากล”

(International Mother Language Day) ตามการประกาศขององค์กรยูเนสโก ซึ่ง ภาษาแม่ หมายถึง ภาษาของกลุ่มชนต่างๆ ในทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาษาใหญ่หรือภาษาเล็กที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันในครอบครัว ชุมชน และสังคมของตนเอง นับเป็นเครื่องมือสื่อสารในวิถีชีวิตของกลุ่มคนและเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาและองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อแสดงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของกลุ่มคนเหล่านั้น

“วันภาษาแม่สากล” มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์การประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลา/ภาษาเบงกาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศที่ถูกแยกให้อยู่ในประเทศปากีสถาน(ฝั่งตะวันออก) ซึ่งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2495 การเรียกร้องดังกล่าวเป็นไปเพื่อต่อต้านการบังคับใช้ภาษาอูรดูเพียงภาษาเดียวในการศึกษา เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิทางภาษาแม่ของตน จากเหตุการณ์ดังกล่าวองค์กรยูเนสโกจึงตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและโอกาสในการใช้ภาษาแม่ของมวลมนุษยชาติในทุกๆ ด้าน จึงได้กำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันภาษาแม่สากล เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อให้พลเมืองโลกตระหนักถึงความสำคัญของภาษาแม่ของตนเองและของผู้อื่น

มีเพียงนักวิชาการบางส่วนเท่านั้นที่ทราบว่าประเทศไทยมีจำนวนภาษาหลากหลายถึง 70 กลุ่มภาษา เช่น ภาษาชอง กะซอง มาบรี อึมปี มานิ มอแกน จิงโพ บิซู ละเวือะ อูรักละโวย ฯลฯ โดยประชากรเหล่านี้อาศัยกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย

ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษา ม.มหิดล

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มประชากรที่พูดภาษาแม่/ภาษาท้องถิ่นบริเวณแนวชายแดนนั้นมีภาษาที่เกี่ยวโยงหรือมีสายสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายประเทศ เช่น พื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีชายแดนติดประเทศพม่า ลาว และเชื่อมต่อสู่ประเทศจีน มีชาวไทยที่พูดภาษากลุ่มตระกูลจีน-ธิเบต-พม่า ได้ เช่น กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนยูนนาน กลุ่มชาวไทยบนพื้นที่สูงที่พูดภาษาพม่า กะยา จิงโพ คะฉิ่น บิซู ซึ่งเป็นภาษาเดียวกันกับประชากรในประเทศพม่า

เช่นเดียวกันกับในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว ตราด รวมทั้งบางพื้นที่ในอีสานใต้ เช่น สุรินทร์ ศรีษะเกศ ซึ่งมีพื้นที่ติดประเทศกัมพูชา (เขมร) ประชากรที่อยู่ในพื้นที่แถบนี้สามารถสื่อสารภาษาเขมรและภาษาในกลุ่มตระกูลเดียวกัน เช่น มอญ กูย กวย ส่วย ที่เหมือนกับประชากรในประเทศกัมพูชา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ ผ่านภาษา ซึ่งยังเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต

ลักษณะเดียวกันนี้เกิดในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน เช่น จังหวัดหนองคาย สกลนคร มุกดาหาร นครพนม ที่มีพื้นที่ติดลาวแล้วเชื่อมต่อสู่เวียดนาม รวมถึงจังหวัดในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีประชาการไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอาศัยจำนวนมากกว่า 8 แสนคน ซึ่งมีความสามารถในการสื่อสารภาษามลายู ซึ่งคล้ายคลึงกับภาษามลายูในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ได้

หากดูจากแผนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนในประเทศไทยทั้ง 10 แห่งแล้วจะพบว่ามีการตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจด้านต่างๆ โดยพิจารณาจาก “ต้นทุนเชิงพื้นที่ อย่างไรก็ตามหากมีการพิจารณาต้นทุนที่มองไม่เห็น เช่น “ต้นทุนด้านภาษา วัฒนธรรม สายสัมพันธ์และประวัติศาสตร์” ซึ่งแฝงอยู่ในพื้นที่ ย่อมทำให้เห็นถึง ศักยภาพที่สูงขึ้น ของประชากรในเขตเหล่านี้ ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและทำให้เป้าหมายของเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มพลังให้กับอีก 2 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ได้แก่ เสาด้านการเมืองความมั่นคง (APSC) และ เสาด้านสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) นอกเหนือไปจากเสาเศรษฐกิจ (AEC)

ต้นทุนทางภาษาแม่ ภาษาชาติพันธุ์ ของประชากรในพื้นที่ตามแนวชายแดน นอกจากจะส่งผลดีต่อทุกภาคธุรกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผ่านต้นทุนการใช้ภาษาแม่/ภาษาชาติพันธุ์ในประเทศไทยเชื่อมโยงสู่ประเทศใกล้เคียง ยังเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศักยภาพด้านการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานบริเวณตามแนวชายแดน โดย คำนึงถึงต้นทุนทางภาษาของผู้เรียน เช่น คัดเลือกผู้เรียนที่มีต้นทุนเดิมในภาษาแม่/ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงกับภาษาหลักในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาการใช้ภาษาในการประกอบธุรกิจ หรือพัฒนาทักษะอื่นเพิ่มเติม เช่น การดูแลผู้ป่วยในอาเซียน การแปลและล่ามทั้งในโรงแรงและโรงพยาบาล เป็นต้น โดยผู้เรียนกลุ่มนี้จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและย่นระยะเวลาในการพัฒนาผู้เรียนภาษาเพื่อนบ้าน ทำให้เศรษฐกิจมีตลาดแรงงานคุณภาพสูงขึ้น

หรือแม้กระทั่งในธุรกิจการศึกษาโดยตรง เช่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่มีคนไทยเชื้อสายจีนยูนนานเลือกเรียนสายภาษาจีนจนเกิดธุรกิจการศึกษาในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-จีนจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้จากการศึกษาและสายสัมพันธ์ไทย-จีนมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าต้นทุนทางภาษาแม่/ภาษาชาติพันธุ์จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการพัฒนาศักยภาพประชากรตามแนวชายแดน ในการใช้ต้นทุนที่มองไม่เห็น ด้านภาษา ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ระหว่างประชากรของทั้งสองฝั่งแผ่นดินให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่มสมาชิกอาเซียนทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง และด้านสังคม-วัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้

ในวันอังคารที่ 21 ก.พ.นี้ ขอเรียนเชิญผู้สนใจในการเพิ่มโอกาสของการใช้ภาษาแม่ ในงาน “วันภาษาแม่สากล” จัดโดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม ติดต่อสำรองที่นั่งฟรี ได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูภาษาฯ 02-8002308 ต่อ 3217

 

เอกสารอ้างอิง

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2544). รายงานผลการวิจัย “แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทย”. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภา

 -------------

มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์

นักวิจัยศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล

และนักวิจัย สกว.