รัฐบาลไหนโกงมากกว่ากัน

รัฐบาลไหนโกงมากกว่ากัน

พลันที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International -TI) ประกาศผล

การจัดดัชนีคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index –CPI) ประจำปี2559 ว่าไทยได้เพียง 35 จาก100 คะแนน จากเดิม 38 คะแนน และตกจากอันดับเดิมถึง 25 อันดับ จากอันดับที่ 76 มาอยู่ที่อันดับที่101 จากทั้งหมด176 ประเทศ ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย มีทั้งทับถมและแก้ตัว ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ซึ่งผมจะนำมาวิเคราะห์ให้เห็นดังนี้

1)  องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มีขั้นตอนและวิธีอย่างไรในการวัด

อันดับแรก คือ การคัดเลือกแหล่งข้อมูล โดยแต่ละแหล่งข้อมูลที่จะถูกนำมาใช้ในการจัดทำดัชนี CPI จะต้องผ่านการข้อกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ คือ ระบุถึงภาพของการคอร์รัปชันในภาครัฐเป็นเชิงปริมาณ ได้ตั้งอยู่บนระเบียบวิธีที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ มีการให้คะแนนและจัดอันดับหลายๆ ประเทศ ในมาตรวัดแบบเดียวกันจัดทำโดยสถาบันที่เชื่อถือได้ และคาดว่าจะมีการจัดทำขึ้นซ้ำในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม และมีเกณฑ์ให้คะแนนที่หลากหลายมากพอที่จะแยกความแตกต่างของแต่ละประเทศได้

โดยดัชนี CPI ของปี 2559 นี้ ใช้แหล่งข้อมูล 13 แหล่ง จาก 12 สถาบัน ที่แตกต่างกัน แล้วนำมาประเมินแหล่งข้อมูลต่างๆ เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ อาทิ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในมาตรวัด0-100 โดย 0 เท่ากับมีภาพของการคอร์รัปชันสูงสุด ขณะที่100 คือมีภาพของการคอร์รัปชันต่ำสุด หลังจากนั้น นำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยและจัดทำเป็นรายงาน โดยระบุถึงค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน

2)  ใช้ข้อมูลรวมทั้งหมดที่ผ่านมาหรือเฉพาะปี 2559

คำตอบก็คือใช้เฉพาะปี 2559

3)  เหตุใดคะแนนจึงลดลง

ในรายงานได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้คะแนนลดลง เนื่องเพราะผู้ที่ที่ต้องการตรวจสอบโครงการของรัฐหลายๆ โครงการถูกปิดกั้นเสรีภาพ และถูกคุกคามอย่างหนัก ทำให้กลไกการตรวจสอบทั้งจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ จนส่งผลให้ลดทอนประสิทธิภาพการตรวจสอบลงไปอย่างมาก การตรวจตราหรือทักท้วงอย่างจริงจัง ทำไม่ได้เหมือนในสภาวะปกติ ทำให้การแสวงหาผลประโยชน์มีมากขึ้น หรือถ้ามีกรณีทุจริตแล้วเกี่ยวพันกับผู้ที่มีอำนาจผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เช่น ปปช., สตง.ฯลฯ ก็ไม่กล้าดำเนินการ

4) ควรตอบโตหรือชี้แจงหรือไม่

การดำเนินการในลักษณะตอบโต้ที่ฝืนมาตรฐานสากล ที่ประชาคมโลกใช้วัด จะไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด ควรยอมรับและมาหาวิธีแก้ไขว่า ควรจะทำอย่างไรให้คะแนนเพิ่มขึ้น เพราะคะแนนที่ลดลงจะมีผลต่อการลงทุน และความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ

5) แสดงว่ารัฐบาลปัจจุบันมีการคอร์รัปชันมากกว่าในอดีตใช่หรือไม่

ไม่สามารถชี้ชัดได้ถึงขนาดนั้น เพราะเป็นเพียงperception ซึ่งหมายถึงการรับรู้หรือความเห็นหรือภาพ (สำนักข่าวหลายสำนักใช้คำว่าภาพลักษณ์ซึ่งผมเห็นว่าไม่ตรงทีเดียวนัก) ที่มีต่อการคอร์รัปชันของประเทศนั้นๆ แต่สามารถชี้ได้ว่าการปิดกั้นการตรวจสอบทำให้มีโอกาสในการคอร์รัปชันมากกว่าเดิม

โดยในความเชื่อของคนทั่วๆ ไป ต่างเชื่อว่าทุกรัฐบาลและทุกยุคทุกสมัย มีการคอร์รัปชันกันทั้งนั้น ดังเช่นกรณีการจ่ายสินบนของบริษัทโรลรอยส์ ของการบินไทย และ ปตท., การจัดซื้อเครื่องตรวจสัมภาระ (CTX), จีที200, เรือเหาะที่บินไม่ได้, การต่อสัญญาเช่าศูนย์ประชุมฯ, การทุจริตจำนำข้าว, การซื้อเครื่องบินกริปเพนที่แพงกว่าประเทศอื่น, การรับค่านายหน้ากรณีซื้อที่ดินของอดีตผู้ว่า กทม.,ไมค์ทองคำ, การพบเงินสดเต็มกระเป๋าเดินทางของอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, กรณีพระเครื่องของอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์, การทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอและนายสิบตำรวจ ฯลฯ

6) แล้วจะทำอย่างไร

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ฝังรากมากับสันดานของมนุษย์ ไม่ว่าชนชาติใด ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผมเคยไปที่ศาลาว่าการของรัฐอิลลินอยสหรัฐอเมริกา ที่เมืองสปริงฟิลด์ เขาชี้ให้ดูรูปผู้ว่าการรัฐที่ติดฝาผนังแปดคนสุดท้าย แล้วบอกว่าสี่คนถูกดำเนินคดีข้อหาทุจริตฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งมีเชื้อสายจีนที่มีธรรมเนียมการให้ค่าน้ำร้อนน้ำชา แต่ทำไมสถิติการคอร์รัปชันถึงน้อยมาก(แต่ก็มี) คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ เขามีระบบการป้องกันการทุจริตที่ทำได้ยาก เปิดเผย โปร่งใส และมีระบบตรวจสอบที่ดี ทั้งจากหน่วยงานอิสระและภาคประชาชน มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเสมอหน้า ไม่มีการเลือกปฏิบัติในการนำคนผิดมาลงโทษ ปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า หากเรามีระบบการป้องกันและการตรวจสอบที่ดี โอกาสที่จะมีการทุจริตก็ทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบจะออกแบบไว้ดีขนาดไหน ก็ย่อมมีช่องว่างเสมอ จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง หากคนหรือบุคคลากรในสถาบัน เช่น ตุลาการ ครูบาอาจารย์ แพทย์ นักบวช ฯลฯ ที่คนไทยเรามักเชื่อว่าเป็นคนดี ไม่น่ามีการทุจริต ที่แท้จริงนั้นก็ต้องดูด้วยว่า คนดีที่ว่านั้นมี โอกาสทุจริตหรือไม่ หากมีโอกาสแต่ไม่ยอมทุจริต นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นคนดีจริง

ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติหรือรัฐประหารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เหตุผลหลักที่ผู้เข้ายึดอำนาจมักอ้างอยู่เสมอ ก็คือการอ้างว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น และตนเองหรือคณะฯ เข้ามาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนี้ โดยใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงจนถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเมืองของทั่วโลกเช่นกัน ก็พิสูจน์แล้วว่า มันไม่ได้ผลดังคำกล่าวของลอร์ดแอกตันที่ว่า อำนาจมักทำให้ฉ้อฉลฉันใดอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็ยิ่งฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายจึงมักเป็นคนเลว” (Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men.)

ระบบเดียวที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีประสิทธิภาพก็คือ ระบบที่ให้สิทธิให้เสียงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งระบบที่ว่านี้นี้ก็คือระบบประชาธิปไตยนั่นเองส่วนจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนก็สุดแล้วแต่ประชาชนของประเทศนั้นๆเป็นคนกำหนดหากให้ผู้อื่นมากำหนดก็จะเป็นอย่างที่เห็นๆ นี้แหละครับ