วางแผนการใช้จ่าย'ซื้อของแพงราคาถูก'

วางแผนการใช้จ่าย'ซื้อของแพงราคาถูก'

คุณคิดอย่างไรระหว่างคำว่า “การใช้เงินอย่างประหยัด” กับ “การใช้เงินให้เหมาะสม”

ถ้าลองทำความเข้าใจดีๆ แล้ว ในแง่ของการวางแผนทางการเงินนั้นมีจุดที่น่าพิจารณาอย่างมากครับ

คำทั้งสองนี้อาจสะท้อนว่า บุคคลทั้งสองมีการใช้จ่ายเงินอย่างถูกต้อง ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แต่หากพิจารณาแบบลงลึก ไม่สามารถสรุปได้เลยว่าเขาได้มีการใช้จ่ายเงินได้อย่างเหมาะสมกับคุณภาพชีวิตจริงๆ ที่เขามี บางคนที่มีฐานะดีแต่ก็ประหยัดเสียจนไม่รู้จักการแบ่งปันให้กับผู้อื่น

หลายคนอาจเกิดคำถามที่ว่า “แล้วฉันยังต้องประหยัดไหม? หรือใช้จ่ายแบบไหนถึงจะเหมาะสม?”

ถ้าคำตอบที่คุณต้องการคือ การใช้จ่ายเงินได้อย่างเหมาะสม ผมขอบอกให้ชัดเจนตรงนี้ก่อนว่า คุณยังคงต้องประหยัด แต่คำว่าประหยัดในที่นี้อาจแตกต่างออกไป ซึ่งการประหยัดที่คุณเข้าใจอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้คุณมีเหลือมากขึ้น แต่อาจไม่ทำให้คุณเหลือมากพอ และบางทีวิธีการประหยัดของคุณอาจไม่ใช่การใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับคุณภาพชีวิตของคุณเลยด้วยซ้ำ หลายคนอาจเริ่มสงสัยแล้วว่า มันมีการใช้จ่ายให้เหมาะสมที่นอกเหนือจากการประหยัดด้วยหรือ?

หลายคนยังคงหลงอยู่ในเขาวงกตของการเงิน เพิ่มความเข้มข้นในการใช้จ่าย ด้วยการประหยัดมัธยัสถ์จนกลายเป็นความตระหนี่ถี่เหนี่ยว เอาเข้าจริงๆ 2 คำนี้ ก็มีความแตกต่างกันคนละขั้ว การประหยัดและใช้อย่างพอเพียงนั้น หลายท่านคงเข้าใจในความหมายไปแล้วกับบทความของผมในกรุงเทพธุรกิจฉบับก่อนหน้านี้ การประหยัดบางคนไปแปลความผิดจนกลายเป็นการไม่ใช้จ่ายเงิน หรือที่บางคนเรียกว่า “ตระหนี่ถี่เหนี่ยว” เป็นการประหยัดจนไม่ได้ใช้ หลายคนไม่กล้าใช้เงิน ทั้งที่ตัวเองมีความสามารถในการใช้จ่าย ทำให้มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่าง คนที่มีเงินเป็นพันล้าน แต่กลับไม่ดื่มน้ำอัดลม ซึ่งเหตุผลก็ไม่ใช่เพราะเขารักษาสุขภาพ แต่เพราะเขาเห็นว่าน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋องราคาตั้ง 15 บาท หรือถ้าพูดในอีกมุมกลับกัน บางคนก็ใช้จ่ายจนไม่เหลือ และยังใช้จ่ายเกินตัวทำให้เป็นหนี้มหาศาล ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “การใช้เงินไม่เหมาะสม” เป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่เคยวางแผนทางการเงิน ทำให้ไม่รู้ถึง “คุณภาพชีวิตที่แท้จริงของตัวเอง” ว่าเราควรจะใช้จ่าย เก็บออม และลงทุน เป็นเงินจำนวนเท่าไหร่? ทำให้อัตราส่วนของเงินผิดรูปทรง ใช้จ่ายเกินตัว ออมเงินผิดที่ทำให้เสียโอกาสในการลงทุน รวมถึงลงทุนระยะยาวมากไปจนทำให้คุณภาพชีวิตในปัจจุบันมีปัญหา อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจเริ่มเครียดแล้วว่า “แล้วอย่างนี้มีวิธีแก้ไขไหม?”

ผมขอตอบตรงนี้เลยว่า มีแน่นอนครับ!!

เพียงแค่คุณต้องทำการวางแผนทางการเงินฉบับย่อให้กับตัวเอง ซึ่งทำได้โดย

1.จัดทำรายการสินทรัพย์ส่วนตัวทางการเงินต่างๆ เช่น

-ข้อมูลเงินฝากออมทรัพย์ และฝากประจำทุกธนาคาร ที่มี 

- ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน หุ้น อนุพันธ์ LTF RMF หรือ ตราสารการเงิน การลงทุนต่างๆ 

- ข้อมูลบ้าน รถยนต์ ที่ดิน คอนโด ทอง เพชร และสินทรัพย์ต่างๆ 

- ข้อมูลของมีค่าต่างๆ เช่น นาฬิกา พระเครื่อง และของสะสมอื่นๆ ที่มีมูลค่า 

- กรมธรรม์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรถ ประกันอื่นๆ 

- เอกสารเกี่ยวกับการลงทุนอื่นๆ 

2.จัดทำรายการรายรับรายจ่าย มีรายได้จากช่องทางไหน และมีรายจ่ายอะไรบ้าง ให้นำมาบันทึกเพื่อจะนำมาคำนวณเงินเหลือหรือเงินขาดในแต่ละเดือน 

3.จัดระเบียบสินทรัพย์ลงทุน โยกย้ายอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนทำให้เป็นอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรารับได้ 

4.เอกสารเกี่ยวกับการกู้ บ้าน คอนโด รถยนต์ และอื่นๆ (ถ้ามี) เพื่อประโยชน์ในการบริหารการลดอัตราดอกเบี้ย(Refinance) ทำให้มีเงินเหลือเพิ่มในแต่ละเดือน 

5.จัดระเบียบรายรับรายจ่าย ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถ้ารายจ่ายบางตัวลดแล้วอาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ให้ใช้เทคนิค ด้านการเงินมาช่วย เช่น ถ้าต้องการซื้อของ หรือสินค้าชิ้นนี้ เราจะสามารถซื้อถูกกว่าราคาตลาด 10%-30% หรือมากกว่านั้นได้หรือไม่ พูดง่ายๆ คือ “ซื้อของแพงราคาถูก” (ซื้อของดีในราคาถูก ถ้าของดีนั้นแพง ก็ต้องซื้อให้ถูกกว่า)

เมื่อทราบข้อมูลทั้งหมดนี้แล้ว เราก็สามารถนำข้อมูลทั้งหมดนี้มาวิเคราะห์เพื่อการใช้จ่าย และลงทุนได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี ซึ่งหัวข้อนี้ผมขออธิบายในคอลัมน์ของผมครั้งถัดไป ระหว่างนี้ที่มีเวลาอยู่ ขอฝากการบ้านให้ผู้ที่สนใจเตรียมเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ผมบอกข้างต้นไว้ให้พร้อม หรือหากใครไม่อยากรอให้เสียเวลา หรือยุ่งยากก็ใช้วิธีง่ายๆ คือการหาผู้ช่วย ผู้รู้ หรือยกทุกความยุ่งยากให้ที่ปรึกษาการเงินช่วยคิด แค่นี้ชีวิตก็ง่ายแล้วครับ แล้วคุณจะสนุกกับการใช้เงินที่เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตของคุณ เพื่อความมั่งคั่งแบบยั่งยืนตลอดไปครับ