บรรยากาศดี เสริมสร้างความคิดได้

บรรยากาศดี เสริมสร้างความคิดได้

ความสามารถที่ไม่ว่าองค์กรที่จัดตั้งใหม่ หรือองค์กรเดิมไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต้องใช้มันขับเคลื่อนในยุคดิจิตัล ก็คือความคิด (Idea)

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคุณสมบัติหนึ่งซึ่งถูกบรรจุไว้ให้เป็นทักษะความสามารถที่จำเป็นเพิ่มเติม สำหรับการเปิดรับพนักงานใหม่ หรือการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งงานคนทำงานเดิมไปในระดับที่สูงขึ้นคือ ความรู้ความสามารถด้านภาษา นั่นคืออย่างน้อยต้องรู้ภาษาที่สอง “ภาษาอังกฤษ” ในระดับที่ใช้การได้นอกเหนือจากภาษาแม่ที่ทุกชาติทุกภาษามีกันอยู่แล้ว ยกเว้นบางประเทศในซีกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ยุคปัจจุบันอาจต้องรู้ภาษาที่สาม เพราะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าได้ย้ายฝั่งข้ามฟากมาซีกโลกตะวันออก และส่วนใหญ่ประเทศในแถบภูมิภาคนี้มักจะมีภาษาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงทุกชาติในอาเซียน

 

อีกหนึ่งทักษะความสามารถก็คือ คอมพิวเตอร์และการสื่อสารแบบไร้สาย โดยอย่างน้อยต้องใช้โปรแกรมคำนวณ (Spreadsheet) โปรแกรมจัดทำเอกสาร (Document) และโปรแกรมนำเสนองาน (Presentation) ได้เป็นพื้นฐาน อาทิ Excel Word และ Powerpoint ในชุด Office ของ Microsoft หรือ Numbers Pages และ Keynote ในชุด iWork ของค่าย Apple รวมถึงโปรแกรมทางเลือกใหม่ๆ ที่ให้บริการผ่านคลาวด์ของ Google และโปรแกรมที่เปิดให้ใช้ได้ฟรีแบบเปิดเผยซอร์สโค้ด (Open source) ต่างๆ

 

นอกจากความรู้พื้นฐานในงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ของตนเองในบริษัท ธุรกิจอุตสาหกรรม และโลกาภิวัฒน์ (ที่หมายถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงและการเปิดกว้างแบบไร้พรมแดน) รวมกับทักษะในทศวรรษที่ผ่านมาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น ความสามารถที่ไม่ว่าองค์กรที่จัดตั้งใหม่ หรือองค์กรเดิมไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต้องใช้มันในการขับเคลื่อนไปในยุคดิจิตัลนี้ ก็คือความคิด (Idea) หรือจินตนาการที่จะมาส่งเสริมสนับสนุน หรือเพิ่มมูลค่าของเดิมให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณประโยชน์มากขึ้นแบบก้าวกระโดด

 

การทำเช่นนั้นอาจดำเนินการได้ใน 2 ลักษณะคือ เปลี่ยนกรอบความคิดพนักงานเดิมด้วยบรรยากาศแบบใหม่ๆ หรือนำพนักงานรุ่นใหม่เข้ามาผสมผสานกับคนเดิม แม้ว่ากาลเวลาไม่คอยท่า การแข่งขันไม่คอยใคร แต่ค่อยๆทำไปอย่างมุ่งมั่น จริงจัง และต่อเนื่อง เริ่มแรกอาจช้าและมีแรงต้านบ้างแต่เมื่อผ่านแรงเสียดทานไปได้จะรวดเร็วขึ้นเองตามลำดับ

 

ผมเคยได้ยินได้ฟัง หรือได้อ่านเกี่ยวกับข้อคิดในการสร้างบรรยากาศเพื่อให้พนักงานฝึกคิดนอกกรอบ และพาตัวเองออกมาจากงานซ้ำซากที่ทำกันอยู่เป็นประจำนานนับสิบปีได้ เนื่องจากจำไม่ได้ถึงที่มาหรือบุคคลที่นำมาเผยแพร่ จึงไม่ได้ให้เครดิตไว้ในที่นี้ แต่เชื่อว่าผู้ที่นำมาถ่ายทอดบอกต่อมีจุดประสงค์ที่จะกระตุ้นให้คนคิดต่อและนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงขออนุญาตนำสิ่งที่ได้มาคิดเชื่อมโยงกับยุคสมัยนี้ และเผยแพร่ต่อให้คนนำไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ดังนี้

 

  1. ในอดีตอาจใช้กล้อง สื่อบันทึกภาพ เครื่องบันทึกเสียง การจดข้อมูลสำคัญ หรือวิธีการอื่นใดที่ดูไม่เป็นทางการเกินไป เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราวต่างๆ เพื่อไม่ให้ความคิดที่น่าสนใจหลุดรอดไปได้ แต่ในยุคนี้เชื่อว่าแค่โทรศัพท์ไร้สาย (Smartphone) เครื่องเดียวทำสิ่งนี้ได้หมด ซึ่งผมใช้เป็นประจำคือ บันทึกทุกอย่างที่คิดหรือพบเห็นได้ในขณะนั้น เพื่อกันลืมและนำมาใช้ในภายหลัง
  2. สำหรับองค์กร การจัดสถานที่ แสงไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และทำให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลาย (เสมือนเป็นการพักผ่อน) โดยออกแบบตกแต่งให้เหมาะกับฟังก์ชันการใช้งาน แต่ให้หลากหลาย แม้แต่ชื่อห้องพูดคุยกลุ่มย่อย อาจตั้งเป็นชื่อที่สะท้อนการใช้งาน เช่น ห้องดาวินชี่ ห้องเอดิสัน เป็นต้น
  3. จัดวางสิ่งของ เครื่องใช้ รูปภาพสถานที่ วิถีชีวิตที่หลากหลาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆที่นอกกรอบ แม้แต่สีสันผนัง การจัดวางเก้าอี้ที่นั่ง ก็มีผลต่อกระบวนการคิด
  4. ห้องสี่เหลี่ยมหรือสถานที่จำเจทุกวัน ช่วยในการทำงานซ้ำๆได้ดี แต่อาจไม่ช่วยในการกระตุ้นคามคิดใหม่ๆ การปรับเปลี่ยนหมุนเวียนโต๊ะที่นั่ง ช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ภายใน การเรียนรู้ระหว่างกัน ลดปัญหาความขัดแย้งในงาน หรือบางทีจัดศึกษาดูงานภายนอกเพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆก็ดีไม่น้อย ไปดูบ้างว่าคนอื่นหรือองค์กรอื่นเขาทำอะไรกันไปถึงไหน ที่แปลกแตกต่างไปจากเรา แต่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
  5. จัดสถานที่เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งเสริมให้ผู้คนได้พบปะและพูดคุยกันในช่วงพัก รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางสร้างสรรค์ บางแห่งเอาคาเฟ่ เอาสปา เอาเครื่องกีฬา มาไว้ในที่ทำงาน นอกจากผ่อนคลาย ยังสลายความรู้สึกเป็นแผนกเป็นฝ่ายออกจากกันได้ด้วย
  6. ปิดเสียงโทรศัพท์หรือเคลื่อนย้ายมันออกไปจากห้อง จะได้ไม่มีอะไรมารบกวน หรือทำลายบรรยากาศ การถูกแทรกแซงบ่อยครั้ง ก็ทำให้กระบวนการคิดขาดช่วงและไม่ต่อเนื่อง
  7. สถานที่ต้องการสมาธิ ควรมีม่านหรือสิ่งบังตา เพื่อลดสิ่งรวบกวนทำให้ไขว้เขว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกันใช้ความคิด หรือเรียนรู้อะไรบางอย่าง สมาธิและจิตจดจ่อก็มีความสำคัญ
  8. เปิดเพลงเบาๆกระตุ้นอารมณ์ หรือลองเปิดเพลงแบบสุ่ม แทนการเปิดเป็นอัลบั้ม เสียงเพลงเบาๆบางช่วงเวลาหรือหนักๆบ้างบางครั้ง ก็ช่วยให้สมองคึกคักได้เช่นกัน
  9. จัดให้มีหนังสือพิมพ์เก่าๆ กระดาษที่ใช้แล้ว เทปกาว กรรไกร เชือก เข็มหมุด เผื่อว่าใครที่มีไอเดียบรรเจิด จะสามารถทดลองสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา ตามที่คิดให้เป็นรูปเป็นร่าง
  10. มีดินสอหลายสี ปากกาเมจิกหลายขนาดวางทั่วๆ มีบอร์ดว่างๆจัดวางตามมุมต่างๆ พร้อมให้คนหยิบใช้งานทันที
  11. สร้างความสนุกสนานที่ทำให้เกิดการหัวเราะ บรรยากาศแบบผ่อนคลาย มักก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆได้เสมอ
  12. ให้ผู้คนยืนบ้างนั่งบ้างตามความสะดวกสบาย หรือถ้าเคยนั่งประชุมก็อาจเปลี่ยนเป็นยืนพูดคุย
  13. นั่งหันหน้าออกนอกกำแพง มองทะลุออกไปชมวิวนอกหน้าต่าง แทนที่จะหันหน้าเข้าหากำแพง

 

คงมีอีกหลายสิ่งที่เราสามารถจะคิดได้ เริ่มต้นจากการคิดออกแบบบรรยากาศภายในใหม่ร่วมกัน จะเห็นว่ามีอะไรน่าเล่น น่าทำอีกมาก อย่าลืมว่า คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ในบรรยากาศเดิมๆ ก็คงได้ผลลัพธ์เดิม