“SEEGOS” มุ่งขจัดคอร์รัปชัน แบบฉบับ “อินเดีย”

“SEEGOS” มุ่งขจัดคอร์รัปชัน แบบฉบับ “อินเดีย”

นับว่าเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีนัก เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)

ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระดับสากลเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก ประกาศดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก 2559 โดยประเทศไทยได้ 35 คะแนน ลดลง 3 คะแนน และตกจากอันดับที่ 76 มาอยู่ลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกอยู่ในบ้านเรามายาวนาน และเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต่างพยายามแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง หลายปีมานี้เราเห็นการรวมตัวกันของทุกภาคส่วน และการเกิดขึ้นขององค์กรน้ำดีที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายในการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส่ อย่างองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และสถาบันไทยพัฒน์ ที่เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นกันดี ฉบับนี้ดิฉันจึงขอหากรณีศึกษาที่น่าสนใจในต่างประเทศมาฝากกันค่ะ นั่นคือตัวอย่างกิจการเพื่อสังคม (SE) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาคอร์รัปชันโดยเฉพาะ อย่าง SEEGOS (Social Enterprise for Ethics, Governance and Organisation Strategies) ในประเทศอินเดีย

SEEGOS ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 จากไอเดียของ “มร.ปราสาท จันดรัน” อดีตประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท BASF India ที่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจชั้นนำทั้งในอินเดียและต่างประเทศมากว่า 38 ปี รวมถึงได้มีส่วนร่วมในหลายหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม เขาจึงก่อตั้ง SEEGOS ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมในการ “สร้างชาติ” ให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้

พันธกิจของ SEEGOS คือการกระตุ้นให้คนอินเดียอย่างน้อย 1 ล้านคน ในทุกกลุ่มชนชั้นและอาชีพ เล็งเห็นความสำคัญของการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วยการลงนามในพันธะสัญญาหรือ “SEEGOS Pledge” อย่างเรียบง่าย ว่าตนเองจะมีความซื่อตรง ปฏิบัติตนตามกฎหมาย รับผิดชอบกระทำของตน รวมถึงสนับสนุนให้สังคมปราศจากคอร์รัปชัน

โดย SEEGOS มีอาสาสมัครที่เป็นเหล่า Influencer ที่มีตั้งแต่ซีอีโอจากภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา กลุ่มสังคม ไปจนถึง NGO โดยทำงานร่วมกันกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ อาทิ กลุ่มพ่อแม่และครู จะร่วมนำคอนเซ็ปต์ของ SEEGOS เข้าไปเผยแพร่ในโรงเรียนต่างๆ สำหรับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย SEEGOS จะส่งเสริมให้มีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับจริยธรรม การกำกับดูและกิจการที่ดี การอบรมสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการผนึกกำลังกับ “นักข่าวพลเมือง” หรือ Citizen Journalist

ส่วนกลุ่มผู้บริหารองค์กรชั้นนำและกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ นักบัญชี นักกฎหมาย จะมีการจัดสัมมนาต่อต้านคอร์รัปชัน และการแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จะมีการฝึกอบรมการทำธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนต่างๆ เป็นต้น

“SEEGOS ต้องการสะท้อนให้เห็นปัญหา และทำให้เกิดการปฏิบัติจริงว่า ความแตกต่างของประเทศที่จนและรวยไม่ใช่อายุของประเทศ โดยอินเดียมีอายุมากกว่า 2,000 ปี แต่ยังยากจนอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีอายุเพียง 150 กว่าปี แต่ปัจจุบันพัฒนาแล้ว อีกทั้งยังไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ แต่สิ่งที่ต่างกันของประเทศที่จนและรวยคือทัศนคติของประชากร ที่ผ่านการบ่มเพาะมายาวนานผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม

จากการที่เราศึกษาแนวคิดของประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าสิ่งที่พวกเขายึดถือเป็นหลักในการใช้ชีวิต คือการมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ การเคารพกฎหมาย การเคารพสิทธิของผู้อื่น รวมถึงมีความรักในงานที่ทำ มีการออม  มีความพยายามสร้างผลงาน และมีความตรงต่อเวลา แต่ประเทศอินเดียจนเพราะเราขาดทัศนคติเหล่านี้ เราต้องการได้เปรียบทุกคนในทุกเรื่อง และเมื่อเราเห็นสิ่งผิดก็ปล่อยให้มันผ่านไป ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เราเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ได้ อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็ง GDP ของเราจะเติบโตมากกว่า 8% และชาวอินเดียจะก้าวผ่านความยากจน และไม่ใช่ประเทศโลกที่สามอีกต่อไป” นี่คือถ้อยแถลงจาก SEEGOS

ปัญหาคอร์รัปชันคงไม่สามารถแก้ไขได้จากคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นหน้าที่ของภาครัฐและเอกชนเท่านั้น หากแต่ต้องการความร่วมมือกันตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงสังคม และประเทศ

ดังเช่นแนวคิดของ SEEGOS ซึ่งหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งเคสที่ดีให้แก่ทุกท่านนะคะ