ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน...ใช้เงินสกุลพวกเรากันเองดีกว่า

ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน...ใช้เงินสกุลพวกเรากันเองดีกว่า

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งที่เป็นข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทย แต่ถ้า

วิเคราะห์ดีๆ จะเห็นว่าข่าวนี้สำคัญไม่น้อย เพราะผู้ว่าการธนาคารกลางในภูมิภาค 3 ท่าน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย มาร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการชำระเงินบาท-รูเปีย และริงกิต-รูเปีย เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเป็นสื่อกลางในการชำระธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ กลไกนี้มีลักษณะเดียวกับกลไกการชำระเงินบาท-ริงกิต ซึ่งได้จัดตั้งและเริ่มดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2559

เราลองมาดูกันสักหน่อยว่า ทำไมธนาคารกลางในอาเซียนจึงมาสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างกัน

เหตุผลหลักมาจากการที่การค้าในภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินสกุลประเทศอุตสาหกรรมหลักที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมีความผันผวนมากขึ้น จนอาจจะไม่สามารถทำให้เกิดเสถียรภาพในการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบันมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 และ 6 ของไทย ตามลำดับ ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 และ 8 ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ตามลำดับ (ตาราง 1) แม้ว่าจะค้าขายกันมาก แต่กลับยังใช้เงินดอลลาร์ สรอ. ในการชำระเงินเป็นหลัก เพราะความคุ้นชินของผู้ค้าขาย โดยในปี 2558 การค้าระหว่างไทยและมาเลเซียมีการชำระราคาด้วยเงินสกุลบาทและริงกิต เพียงร้อยละ 13.4 เท่านั้น และสำหรับอินโดนีเซีย มีเพียงร้อยละ 11.7 เท่านั้นที่ชำระราคาด้วยเงินบาทและรูเปีย (ตาราง 2) คำถามคือแล้วการใช้เงินดอลลาร์ สรอ. ชำระเงินมีปัญหาอะไร ทำไมต้องสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทน

คำตอบคือ ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแปลงเงินสกุลท้องถิ่นมาเป็นดอลลาร์ สรอ. เพื่อส่งไปชำระค่าสินค้า เมื่อผู้ประกอบการอีกประเทศได้รับเงิน ก็ต้องแปลงกลับเป็นสกุลท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้จ่าย ซึ่งเท่ากับทั้งวงจรเสียค่าใช้จ่ายในการแปลงเงินตราต่างประเทศถึง 2 ต่อ

การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระราคา ยังมีข้อดีในเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยผู้ประกอบการที่ชำระหรือได้รับชำระเป็นสกุลเงินของตนจะไม่ต้องเสี่ยงกับความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ได้รับหรือชำระเงินสกุลท้องถิ่นของอีกฝ่ายจะมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินน้อยกว่าการใช้เงินดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ค่าเงินสกุลท้องถิ่นมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน (รูปภาพ 1) เพราะวัฏจักรทางเศรษฐกิจและการค้าที่สอดคล้องกันมากกว่า ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจการเงินโลกมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจะมีทางเลือกเพิ่มเติมในการเลือกสกุลเงินที่จะใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งหากใช้เงินสกุลท้องถิ่นชำระก็จะช่วยให้ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของภาคธุรกิจปรับลดลง ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกต่อการค้าในภูมิภาคลงได้

สำหรับแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปภายใต้ความตกลงนี้ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะพิจารณาผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาท ริงกิต และรูเปีย เพื่อให้มีการทำธุรกรรมการชำระเงินเพื่อการค้าและการลงทุนโดยใช้เงินสกุลทั้งสามนี้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนของทั้งสามประเทศ

จึงน่าจะสรุปได้ว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างทั้งสามธนาคารกลางเป็นการที่ภาคการเงินจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการค้าการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือทางการเงินการธนาคารของประเทศที่อยู่ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่ง ธปท. มีนโยบายผลักดันมาโดยตลอด