'สหกรณ์' อย่ามองข้าม!

'สหกรณ์' อย่ามองข้าม!

ดูเหมือนว่าทางการจะ “ควบคุม” สถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ (Default) ในตั๋วแลกเงิน หรือ “ตั๋วบี/อี”

 ได้ระดับหนึ่งแล้ว .. เรียกว่าพอจะดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุน (รายใหญ่) กลับมาได้บ้าง แต่คงไม่ทั้งหมด

ปัญหาการเบี้ยวหนี้ตั๋วบี/อี ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ลงทุนต้อง “ล่าผลตอบแทน” หรือ search for yield และการล่าผลตอบแทนนี้เอง ทำให้ผู้ลงทุนมองข้ามความเสี่ยง หรือมองความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง(underpricing of risk)

มีคนบอกว่า ตั๋วบี/อีที่ default ไม่น่ากังวลนัก ดูแล้วคงไม่กระทบ “เสถียรภาพระบบการเงิน” อย่างมีนัยะสำคัญ เพราะผู้เล่นที่เกี่ยวข้องมีเพียง 2 ปาร์ตี้ คือ “ผู้ออก” กับ “ผู้ลงทุน” และผู้ลงทุนก็ไม่ได้นำตั๋วนี้ ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอกู้เงิน แล้วนำไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ต่อ ความเชื่อมโยงจึงมีจำกัด

แต่ประเด็นที่นักการเงินรายนี้ แนะนำให้ “จับตามอง” เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้น แล้วไม่สามารถควบคุมความเชื่อมั่นของผู้เกี่ยวข้องไว้ได้ อาจลามเป็นลูกโซ่ นั่นคือ “สหกรณ์” ..เพราะปัจจุบันพบว่า สหกรณ์มีการกู้ยืมระหว่างกันเยอะมาก

ความจริงแล้วความเสี่ยงของ สหกรณ์ เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนและเฝ้าจับตามาระยะหนึ่งแล้ว

รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินปี 2559 ของ ธปท. ระบุว่า สินทรัพย์ของ “สหกรณ์” (เฉพาะออมทรัพย์) โตขึ้นต่อเนื่องทั้งในส่วน “เงินให้กู้ยืม” และ “เงินลงทุนในหลักทรัพย์” โดย ณ เดือนพ.ย.2559 ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มีสินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาท(ราวๆ 15-16%ของจีดีพี) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.1%

สินทรัพย์ส่วนใหญ่ยังเป็นเงินให้กู้ยืมที่แม้จะโตชะลอลงมาที่ 4.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เป็นการชะลอในส่วนของเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิก ขณะที่ “การปล่อยกู้ระหว่างกัน” ของสหกรณ์ยังโตต่อเนื่อง และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ก็ขยายตัวสูงถึง 19% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ระยะหลังยังพบว่า การลงทุนใน “หุ้น” โตสูงกว่าการลงทุนใน “บอนด์” ทั้งยังพบพฤติกรรมบางแห่งที่กู้ยืมเงินแล้วนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ สะท้อนการ “ล่าผลตอบแทน” ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังดีที่เงินลงทุนในหุ้นมีเพียง 1.7% ของสินทรัพย์รวม

การให้กู้ยืมระหว่างกันของสหกรณ์ที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สหกรณ์บางแห่งใช้เป็นแหล่งหาผลตอบแทน โดยสหกรณ์ที่ต้องการเงินกู้มักพึ่งพาแหล่งเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าเงินกู้ระยะยาวทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์อื่นเพื่อนำมาปล่อยกู้ระยะยาวให้แก่สมาชิก ทำให้สหกรณ์ที่บริหารเงินดังกล่าวมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ได้

เข้าใจว่าสหกรณ์ “ส่วนใหญ่” มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีกรรมการที่เก่งยึดมั่นในหลักการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล แต่หากมีบางแห่งเกิดปัญหาขึ้นภายใน ด้วยธุรกรรมที่มีความเกี่ยวโยงกันมากขึ้นนี้ อาจส่งผลกระทบกับรายอื่นๆ ได้ ทางการจึงไม่ควรละสายตา!