คอร์รับชั่น กับ หุ้น

คอร์รับชั่น กับ หุ้น

คอร์รับชั่น กับ หุ้น

ข่าวคราวเกี่ยวกับการคอร์รับชั่นที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงนี้นั้น ในสายตาของ VI เราควรจะมองอย่างไร เลิกลงทุนในหุ้นที่เป็นข่าวหรือไม่? ปรับการให้มูลค่าหุ้น? หรือ อยู่เฉย ๆ? เหนือสิ่งอื่นใด ข่าวทั้งหลายเป็นเรื่องของ “อดีต” ปัจจุบันทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรือไม่ก็ อนาคตก็คงไม่เป็นอย่างนั้นอีก มาดูกัน

เรื่องของการคอร์รับชั่นหรือกินสินบนในวงราชการและรัฐวิสาหกิจนั้น ถ้าจะพูดไปก็อาจจะบอกได้ว่ามีมาตลอดในประวัติศาสตร์ของไทย แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติไปจากประเทศอื่น ๆ ที่มีการพัฒนา มีระบบการปกครองและเศรษฐกิจ และมีรายได้ต่อหัวในระดับเดียวกัน เพราะการคอร์รับชั่นนั้น สำหรับผมแล้ว มันเป็นเรื่องของ “ระบบ” เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของคุณสมบัติส่วนบุคคลของคนในแต่ละประเทศ

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วและผู้คนมีรายได้สูงนั้น การคอร์รับชั่นก็จะน้อยลง ดูตัวอย่างประเทศในสแกนดิเนเวียที่มีการคอร์รับชั่นน้อยมาก หรือแม้แต่สิงคโปร์หรือฮ่องกงที่เคยจนและเคยมีการคอร์รับชั่นสูงในอดีต แต่เดี๋ยวนี้มีระดับการคอร์รับชั่นต่ำมากเทียบกับคนจีนด้วยกันในประเทศจีนที่ยังมีคอร์รับชั่นค่อนข้างสูงเพราะรายได้ประชากรยังต่ำกว่ามาก

ระบบเศรษฐกิจและการปกครองเองนั้นก็มีส่วนทำให้เกิดคอร์รับชั่นด้วย โดยหลักการแล้วผมคิดว่าสังคมที่เปิดกว้างและมีการตรวจสอบได้สูงก็น่าจะทำให้การคอร์รับชั่นลดน้อยลงเทียบกับสังคมที่มีคนที่มีอำนาจเด็ดขาดและสังคมไม่กล้าตรวจสอบ ประเด็นนี้ผมเองคิดว่ามาจากเหตุผลที่ว่าคนอาจจะกล้าที่จะโกงน้อยลงเนื่องจากกลัวว่าจะถูกจับได้และถูกลงโทษ

ผมคิดว่าเหตุผลที่คนโกงหรือคอร์รับชั่นนั้นพื้นฐานจริง ๆ น่าจะเป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจ” นั่นก็คือการ “หาเงิน” หรือ “ทรัพยากร” ของมนุษย์ที่ “มีเหตุมีผล” และอิงอยู่กับทฤษฎีทางการเงินเรื่อง “ผลตอบแทนกับความเสี่ยง” ที่บอกว่า มนุษย์จะประเมินตลอดเวลาเวลาที่จะทำอะไรว่า “ผลตอบแทน” ที่เขาจะได้คืออะไรและมันคุ้มกับ “ความเสี่ยง” ที่เขาจะต้องรับหรือไม่

แน่นอน ในสังคมสมัยใหม่นั้น ผลตอบแทนก็คือ “เม็ดเงิน” ที่เขาจะได้ ยิ่งโอกาสได้เงินมากเมื่อเทียบกับเงินที่เขามีอยู่ ผลตอบแทนก็จะมาก เมื่อผลตอบแทนมาก เขาก็จะกล้าเสี่ยงมากขึ้น ในด้านของความเสี่ยงนั้น ในด้านของการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือกินสินบนนั้นก็คือความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ซึ่งจะทำให้เขาต้องติดคุก ถูกยึดเงินคืน และเสียชื่อเสียงอย่างหนักในสังคม

โดยทั่วไปคนก็จะประเมินว่ามัน “คุ้ม” ไหมที่จะคอร์รับชั่นถ้าเขา “มีโอกาส” ที่จะทำ ถ้าเขาดูแล้วว่ามีความเสี่ยงต่ำมากหรือแทบไม่มีโอกาสเลยที่จะถูกจับได้หรือแม้แต่จะทำให้คนอื่นสงสัย เขาก็จะ “โกง” ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเม็ดเงินที่จะได้จากการคอร์รับชั่นสูงหรือสูงมากเมื่อเทียบกับเงินของตนเองที่มีอยู่ เขาก็อาจจะอยากโกงทั้งที่มีความเสี่ยงพอสมควรที่อาจจะถูกจับได้ ในกรณีแบบนี้ บางทีเขาก็จะต้องพยายาม “ลดความเสี่ยง” อาจจะโดยการขอรับเงินเป็นธนบัตรหรือเป็นเงินโอนในต่างประเทศที่ “ปลอดภัย” จากการตรวจสอบเช่นในประเทศที่เป็น Tax Heaven เช่น ในหมู่เกาะ Cayman เป็นต้น

ในประเทศที่เจริญแล้วนั้น การคอร์รับชั่นน้อยลงผมคิดว่ามาจากเหตุผลที่ว่าคนส่วนใหญ่มีรายได้สูงในขณะที่ผลตอบแทนจากการโกงนั้นมีไม่มาก นั่นทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ที่มีโอกาสที่จะโกงไม่มีแรงจูงใจที่จะทำ และนี่ส่งผลให้คนบางคนที่จะคอร์รับชั่นเงินจำนวนมากทำได้ยากขึ้นเนื่องจากการคอร์รับชั่นรายการใหญ่นั้นมักจะต้องอาศัยความร่วมมือของคนหลาย ๆ คนหรือหลาย ๆ ฝ่าย สถานการณ์แบบนี้ทำให้การโกงน่าจะค่อย ๆ ลดลงไปจนเกิดวัฒนธรรมที่ว่าไม่มีใครคิดอยากจะโกงหรือถึงคิดก็ทำไม่ได้ นอกจากนั้น ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มักจะมีระบบการปกครองที่ไม่ได้ให้อำนาจกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากนัก ส่วนใหญ่แล้วอำนาจอยู่ที่ “ตัวบทกฎหมายที่ไม่ต้องตีความ” โดยข้าราชการหรือนักการเมืองที่ในประเทศกำลังพัฒนามักจะมีอำนาจ “อนุมัติ” ดังนั้น โอกาสที่จะคอร์รับชั่นในประเทศพัฒนาแล้วจึงมีน้อยกว่า

ผมไม่มีเนื้อที่พอที่จะอธิบายว่าทำไมประเทศกำลังพัฒนาจึงมักมีการคอร์รับชั่นที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วแต่ผู้อ่านก็น่าจะวิเคราะห์ได้ว่าทำไม เนื่องจากมันก็คือเหตุผลด้านตรงกันข้าม แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ การคอร์รับชั่นของไทยนั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่แปลก” จากประเทศอื่นที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและการปกครองคล้าย ๆ กัน และ “ถ้า” ประเทศไทยสามารถพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” การคอร์รับชั่นก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง

ในส่วนของการลงทุนในหุ้นของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่ “รัฐเป็นเจ้าของ” นั้น ผมก็คิดว่าการคอร์รับชั่นก็จะยังอยู่ต่อไป เพราะการคอร์รับชั่นก็ยังคุ้มที่จะทำ แต่ผมคิดว่าจากเหตุการ “การเปิดโปงคอร์รับชั่นย้อนหลัง” ที่มาจากประเทศที่เจริญแล้วครั้งนี้จะทำให้ “ความเสี่ยงในการถูกจับได้” เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งก็น่าที่จะทำให้การคอร์รับชั่นในอนาคตลดลง อย่างน้อยก็ในรายการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ

ในส่วนของหุ้นเองนั้น ผมเองคิดว่าการคอร์รับชั่นในบริษัทจดทะเบียนที่เป็นของรัฐนั้น เป็น “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้นในการทำธุรกิจ ถ้าบริษัทสามารถ “ส่งผ่านต้นทุน” นั้นให้กับผู้บริโภคได้หมด บริษัทก็ยังสามารถทำกำไรได้เหมือนเดิม เราก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ต้องแข่งขันกับเอกชนโดยเฉพาะในระยะหลังที่มีการเปิดเสรีการทำธุรกิจมากขึ้น บริษัทเหล่านั้นก็จะมีปัญหาในการประกอบการและจึงเป็นหุ้นที่ควรจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นกิจการที่มีโอกาสถูกคอร์รับชั่นได้มาก