ข้อแลกเปลี่ยนของอาเบะที่ล้มเหลว

ข้อแลกเปลี่ยนของอาเบะที่ล้มเหลว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วการเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีอาเบะกับประธานาธิบดีปูตินที่หวังใช้ความ

ร่วมมือทางเศรษฐกิจแลกเปลี่ยนกับดินแดนจบลงด้วยความล้มเหลวของญี่ปุ่น สำหรับบุคคลภายนอกแล้วไม่ได้ผิดคาดมากนัก แต่ทำไม? ญี่ปุ่นถึงเพียรพยายามลงทุนลงแรงอย่างมากเพื่อจัดการเจรจานี้ขึ้น การเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังนั้นจะต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดเบื้องหลัง ซึ่งบทนำหน้า 1 นิฮอนเคอิไซชิมบุน ฉบับวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2016 สรุปไว้ค่อนข้างชัดเจนและครบถ้วน จึงอยากจะแปลคำต่อคำไว้เป็นความรู้ดังนี้

รัฐบาลญี่ปุ่นกับรัสเศียได้จัดการประชุมผู้นำในวันที่่ 15-16 ธันวาคม เพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ที่เป็นความร่วมมือใหม่ๆ แต่ความเห็นส่วนใหญ่มองกันว่า สำหรับญี่ปุ่นแล้วแม้ว่าการเริ่มต้นพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมบนเกาะทั้งสี่แห่งทางเหนือจะเป็นหัวใจสำคัญ “การอ่อนข้ออย่างจำกัด” แฝงไว้ด้วยความเสี่ยงที่รัสเซียจะรับประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “แล้วชักดาบวิ่งหนี” ท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐบาลปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซัยในปัญหาซีเรียและยูเครน และความระแวงของยุโรปต่อความใกล้ชิดของญี่ปุ่นกับรัสเซีย การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเศียเป็นการเปิดฉากขึ้นตามกระแสของสถานการณ์โลก

ด้วยเหตุที่ความคาดหวังสูง ผลของการเจรจาครั้งนี้จึงได้รับคะแนนในทางลบในลักษณะที่ “ประชาชาติกว่าครึ่งต่างผิดหวังไปตามๆ กัน” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัสเซียต่างแสดงความห่วงใยกันว่า แนวทางใหม่ที่เรียกว่า กิจกรรมเศรษฐกิจร่วมกันภายใต้สภาพที่รัสเซียยังไม่ได้รับรองอธิปไตยของญี่ปุ่นนั้นรังแต่จะนำไปสู่ลักษณะที่ญี่ปุ่นยอมรับการยึดครองของรัสเซียโดยปริยาย

นายกรัฐมนตรีอาเบะได้ขีดเส้นและยืนยันอย่างแข็งขันว่า ถ้าหากไม่มีการคืนดินแดนมา ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แม้ว่าแนวคิดเช่นนี้นจะเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนดินแดนด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ความหวังที่จะได้ดินแดนคืนซึ่งเป็นหัวใจนั้น แทบมองไม่เห็นเลย

ระยะเวลาหลังสงครามผ่านไปแล้วถึง 71 ปี ญี่ปุ่นและรัสเซียยังคงมีความสัมพันธ์ในสภาพที่ไม่ปกติ ความคงอยู่ของปัญหาดินแดนกลายเป็นประวัติศาสตร์อันเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและความมั่นคง

เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องผ่านคำปราศรัยที่วลาดิวอสต็อคต่อหน้าประธานาธิบดีปูตินว่า “การถกเถียงที่เหมือนๆ กันหลายสิบปี ก็คงจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้” ทั้งนี้ ก็ด้วยหวังว่า สิ่งที่อยากจะทำให้เสร็จสิ้นในรุ่นของตนเองจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมกันนั้นก็ทำให้ “หลังสงคราม” จบสิ้นไปด้วย

จีนมีบทบาททางทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกาหลีเหนือไม่ยอมหยุดการพัฒนาจรวดและอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีใต้ที่มีความวุ่นวายทางการเมืองนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลที่ต่อต้านญี่ปุ่น สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การดึงรัสเซียเข้ามาจะเพิ่มทางเลือกในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มาก

ความเสี่ยงไม่ได้หมดไป ปูตินที่กรำศึกมาอย่างโชกโชนแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวด้วยแรงส่งจากสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อรัสเซีย ราคาน้ำมันที่หวนกลับขึ้นมาด้วยข้อตกลงลดการผลิตทำให้หายใจได้เฮือกใหญ่ภายหลังราคาน้ำมันตกต่ำมาพักใหญ่

ท่ามกลางภาวะที่สหรัฐอเมริกากับยุโรปดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียในประเด็นปัญหายูเครน ทรัมป์ประธานาธิบดีรับเลือกได้แสดงท่าทีสนิทสนมกับรัสเซีย ก่อนหน้าที่ปูติจะมาญี่ปุ่น Carter Page ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของค่ายทรัมป์ได้เยือนมอสโควและกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ความห่วงใยที่ว่า “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 8 รายการ” ที่นายกรัฐมนตรีเปิดเผยจะโดนรัสเซีย “ชักดาบ” นั้น ยังคงหลงเหลืออยู่ แนวคิดที่แตกต่างระหว่างนายกรัฐมนตรีที่หวังตระเตรียมสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องดินแดนกับปูตินที่หวังการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ตะวันออกไกลยังคงอยู่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทการค้าญี่ปุ่นคนหนึ่งแสดงความไม่สบายใจว่า “การลดความเสี่ยงทางการเมืองไปพร้อมๆ กับการปรับปรุงความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-รัสเซียเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของธุรกิจในรัสเซีย”

สิ่งที่ปูตินไล่เบี้ยกับนายกรัฐมนตรีก็คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกา” โดยแสดงความคาดหวังที่จะแยกญี่ปุ่นออกจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในปัญหายูเครนเพื่อให้การคว่ำบาตรเบาบางลง ส่วนนายกรัฐมนตรีก็เผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกที่จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจยับยั้งทางนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมคิกาตามสนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างกัน และ วางพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกาเป็นแกนหลักแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เกมแห่งอำนาจของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มุมมองของ “ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-รัสเซียท่ามกลางโลกใบนี้” ยิ่งมีความจำเป็นสำหรับนโยบายต่อรัสเซียมากขึ้นเท่านั้น

นี่คือ กรรมของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากการก่อสงคราม ทำให้เกิดปัญหาดินแดนสี่เกาะทางเหนือ และตกอยู่ภายใต้ข้อผูกพันของสนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา แต่การให้ญี่ปุ่นมีอิสรภาพจากข้อผูกพันกับสหรัฐอเมริิกาก็อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของโลก