อย่าหวังว่าปธน.ทรัมป์จะทำให้ศก.สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว

อย่าหวังว่าปธน.ทรัมป์จะทำให้ศก.สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ศ.Alan Blinder แห่งมหาวิทยาลัย Princeton และอดีตประธาน

คณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคลินตันเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เรื่อง “Will Trump deliver on growth? Don’t count on it” ซึ่งผมเห็นว่ามีสาระน่าสนใจ ผมจงขอนำมาแปลสรุปดังต่อไปนี้ครับ

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้หาเสียงโดยสัญญาว่าจะบริหารประเทศให้เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันขยายตัว 2% ต่อปีโดยเฉลี่ย สามารถขยายตัวได้ 4% หรือมากกว่านั้น ซึ่ง ศ. Blinder สรุปว่า “ขอให้โชคดี” แต่ในอดีตตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มานั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครท มาเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2% ต่อปีในสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีโอบามา แต่ ศ. Blinder มิได้กล่าวอ้างสถิติในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่วิเคราะห์ว่านโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นไม่น่าที่จะขับเคลื่อนให้จีดีพีสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2% ต่อปีเป็น 4% ต่อปีได้

ประธานาธิบดีทรัมป์จะเน้นการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการเพิ่มการลงทุนของรัฐบาลในด้านโครงสร้าง (1 ล้านล้านเหรียญ) และในการลดภาษี ทั้งนี้รายได้บุคคลและรายได้นิติบุคคล โดยนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการลงทุนและการลดภาษีรายได้นิติบุคคลจาก 35% เป็น 15% ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้ง จนดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 20,000 จุด แต่ ศ. Blinder มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังนั้นเคยเป็นเรื่องที่เหมะสมเมื่อปี 2009 ตอนที่เศรษฐกิจสหรัฐตกอยู่ในสภาวะถดถอยอย่างรุนแรง มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก (ทรัพยากรของเศรษฐกิจมีเหลือใช้มากมาย) แต่ในครั้งนั้นพรรครีพับลิกันต่อต้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา (มูลค่า 830,000 ล้านเหรียญ) มาวันนี้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพและการว่างงานลดลงเหลือเพียง 4.7% ดังนั้น ผลที่จะตามมาจึงจะไม่ใช่การขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อซึ่งจะทำให้ธนาคารสหรัฐต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า

หากนโยบายของทรัมป์ไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ (demand) ได้ คำถามต่อไปคือนโยบายอาจมีผลในการกระตุ้นอุปทาน (supply) ก็ได้ ิตรงนี้ต้องเข้าใจร่วมกันว่าการกระตุ้นอุปทานนั้นแปลว่ากระตุ้นให้มีทรัพยากรการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น คนที่เดิมไม่ต้องการหางาน ก็กลับมาหางานทำ แต่ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะคนที่ตกงานมานาน 1-2 ปีย่อมจะขาดทักษะในการเข้าทำงาน โดยเฉพาะงานประเภทใหม่ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง แต่การลงทุนของภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพโดยรวม (ที่เรียกว่า Total Factor Productivity หรือ TFP) ก็ได้ แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้นจะต้องใช้เวลานานในการนำเสนอและอนุมัติโครงการ นอกจากนั้นการใช้จ่ายก็น่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2% ต่อปีไปเป็น 4% ต่อปีในเร็ววันนี้

ในส่วนของการลดภาษีนั้น ศ.Blinder อ้างถึงการประเมินโดยนักวิชาการทั้งจากฝ่ายพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครทเกี่ยวกับผลของการลดภาษีในอดีต ซึ่งมีข้อสรุปร่วมกันว่าการลดภาษีมิได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด (US historical data show huge shifts in taxes with virtually no observable shift in growth rates) แต่ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal อ้างถึงการประเมินของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (Congressional Budget Office) ว่านโยบายปัจจุบัน (ของโอบามา) ก็จะทำให้รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 3.2% ของจีดีพีต่อปีใน 4 ปีข้างหน้าอยู่แล้ว แต่หากดำเนินตามนโยบายของทรัมป์ที่หาเสียงเอาไว้ ก็จะทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6.8% ของจีดีพีต่อปี โดยการคาดการณ์ของบริษัทวิเคราะห์เศรษฐกิจ Cornerstone Macro การขาดดุลงบประมาณมหาศาลดังกล่าวย่อมจะทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐและดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

ศ.Blinder สรุปว่าความผันผวนของประธานาธิบดีทรัมป์อาจเป็นจริงได้ หากอยู่ดีๆ TFP หรือผลิตภาพของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 0.4% ต่อปีในช่วง 2005-2015 มาเป็น 1.6% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่เกิดขึ้นในช่วง 1995-2005 ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ ก็ยังไม่มีคำตอบว่าทำไมผลิตภาพจึงปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อลดลงได้ผลิตภาพก็อาจปรับเพิ่มขึ้นเองได้เช่นกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจีดีพีสหรัฐก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.2% (ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา) มาเป็น 3.1% โดยมิได้ต้องพึ่งพานโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์แต่อย่างใด

ศ.Blinder สรปว่า “No sensible person would bet on such an outcome. But then again, no sensible person bet on Donald Trump becoming president”