จุดทดสอบแก้คอร์รัปชันของรัฐบาล

จุดทดสอบแก้คอร์รัปชันของรัฐบาล

อาทิตย์ที่แล้วเป็นอาทิตย์ของความผิดหวังและความตกต่ำในธรรมาภิบาลภาครัฐของไทย

มีข่าวร้ายเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐเกิดขึ้นพร้อมกันสามข่าว คือ ข่าวการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐวิสาหกิจหกแห่งที่ถูกพาดพิงว่า มีการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในการจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทต่างประเทศในวงเงินหลายพันล้านบาท มีข้าราชการระดับสูงถูกจับกุมในต่างประเทศในข้อหาลักทรัพย์ และดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศตกต่ำรุนแรง คือลดลงยี่สิบห้าอันดับในปีเดียว เป็นอันดับที่ 101 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในความเห็นของผม ทั้งสามเรื่องนำไปสู่ข้อสรุปเดียวกัน หนึ่ง ปัญหาธรรมาภิบาลภาครัฐของประเทศเราเป็นปัญหาใหญ่ จากกระบวนการทำงานที่ไม่โปร่งใส ผู้ทำหน้าที่ขาดความรับผิดรับชอบ และการตัดสินใจต่างๆไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดการฉ้อฉลและใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง แม้จะผิดกฎหมายก็ไม่เกรงกลัว ผลก็คือ การทุจริตคอร์รัปชันและการประพฤติมิชอบในวงราชการเกิดขึ้นกว้างขวาง

สอง กรณีรัฐวิสาหกิจ เรื่องที่เกิดขึ้นชี้ว่า คอร์รัปชันในองค์กรภาครัฐของประเทศเราเป็นปัญหาใหญ่ และผู้เล่นหรือตัวละครสำคัญ ก็คือ บุคคลในภาครัฐเอง ทั้งจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ที่ทั้งสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา เป็นที่ทราบดีว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเฉพาะในสินค้าที่มีการแข่งขันสูง มีวงเงินสูง จะมีความเสี่ยงต่อการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันมาก โดยเฉพาะถ้าการซื้อขายเป็นระบบปิด ทำโดยเจ้าหน้าที่และผู้บริหารขององค์กรกับผู้ขายโดยตรง โดยมีตัวกลางเป็นคนเชื่อม เอื้อโดยผู้ขายที่อยากสร้างเป้าการขายเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ความโลภและความต้องการหาเงินของฝ่ายผู้ซื้อเพื่อตนเองหรือเพื่อ “นาย” และระบบการตรวจสอบของบริษัทผู้ซื้อและผู้ขายที่อ่อนแอ ไม่จริงจัง เหล่านี้สร้างแรงจูงใจให้การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ไม่เฉพาะกับบริษัทต่างประเทศแต่รวมถึงบริษัทในประเทศไทย ทำให้การให้สินบนในการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะมีใครถูกเปิดโปงหรือถูกจับได้เท่านั้น

สาม การตกลงอย่างรุนแรงของดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันในปี 2016 ก็สะท้อนความสำคัญที่นักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศให้กับระบบการเมืองของประเทศ โดยมองว่า ระบบการเมืองที่ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสียงหรือมีส่วนร่วม เป็นระบบการเมืองที่ล่อแหลมต่อการใช้อำนาจในทางที่ผิด นำไปสู่การขาดการตรวจสอบหรือการถ่วงดุล และการเกิดขึ้นของการทุจริตคอร์รัปชัน และความไม่จริงจังในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน อันนี้ผมคิดว่า นี่เป็นเหตุผลขององค์กรโปร่งใสระหว่างประเทศล่าสุดที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการปกครองประเทศและความเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่า เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันจากระบบการเมืองที่มีอยู่ แม้รัฐบาลเองจะเน้นย้ำว่า ต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแต่ก็ยังถูกมองว่า ไม่มีการทำ หรือ take action ด้านนโยบายจริงจังพอ เทียบกับประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย ที่ดัชนีเคยอยู่แย่กว่าเรามาตลอดแต่ปีนี้พุ่งขึ้นเป็นอันดับที่ 90 จากการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจริงจัง เช่น ออกมาตรการนิรโทษกรรมภาษี (Tax amnesty) เพื่อดึงเงินคนอินโดนีเซียที่ฝากเงินไว้ในต่างประเทศกลับประเทศ

ณ จุดนี้ จึงเป็นจุดทดสอบสำคัญว่า ทางการไทยจะเอาจริงกับการแก้ไขปัญหาและจะพลิกฟื้นความตกต่ำนี้หรือไม่อย่างไร ก่อนที่ดัชนีนี้จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ในเรื่องนี้ สิ่งที่ภาครัฐควรต้องทำมีสองอย่าง คือ หนึ่ง แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานราชการที่เป็นข่าว เพื่อแสดงถึงการ take action ให้เห็นเป็นประจักษ์ และ สอง สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนว่า ทางการไทยเอาจริงและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ประเทศมีอยู่

เรื่องแรก การสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นในหกรัฐวิสาหกิจจะเป็นจุดทดสอบแรกของความตั้งใจของนโยบายการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในสายตาประชาคมโลก ดังนั้น การตรวจสอบจึงต้องเร็ว โดยกระบวนการที่มีความน่าเชื่อถือ มีการลงโทษ หรือเอาผิดอย่างจริงจังกับผู้ที่ทำผิดอย่างไม่ไว้หน้า  

สำหรับความน่าเชื่อถือในกระบวนการตรวจสอบต้องทำให้เกิดขึ้น โดยรูปแบบการตรวจสอบที่เป็นอิสระ (independent oversight) เช่น มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่เป็นคนกลางเข้าร่วมการตรวจสอบ เพื่อนำไปสู่การชี้จุดอ่อนและปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดซื้อจัดจ้างและระบบการควบคุมภายในของรัฐวิสาหกิจ มีการจัดตั้งช่องทางสาธารณะที่บุคคลภายนอกสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนได้ และทำการตรวจสอบอย่างครบถ้วนที่ครอบคลุมถึงบุคคลที่เป็นตัวกลาง (agent) ที่เป็นตัวเชื่อมให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เหล่านี้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการตรวจสอบ

ในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทางการสามารถออกเป็นระเบียบให้บริษัทที่เป็นผู้ขายสินค้าให้กับหน่วยงานราชการจากนี้ไป ต้องออกจดหมายยืนยันโดยประธานบริษัทและซีอีโอของบริษัทผู้ขายถึงประธานของหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ซื้อว่า จะไม่ให้สินบนในการขายสินค้าดังกล่าว พร้อมบังคับให้บริษัทผู้ขายต้องแสดงบัญชีการใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าดังกล่าวให้กับหน่วยงานรัฐ เช่น การจ่ายค่าเอนเทอร์เทนต่างๆ ให้ประธานหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ซื้อทราบหลังการซื้อขายจบสิ้น และบัญชีดังกล่าวนี้ต้องส่งผ่านสำเนาไปให้กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งบริษัทที่ให้ข้อมูลบัญชีไม่ถูกต้องจะมีความผิดทางกฎหมาย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรบังคับให้หน่วยงานราชการมีกระบวนการสอบทานการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำไปแล้ว โดยหน่วยงานอิสระภายนอก (independent audit) เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างและป้องกันการปกปิดข้อมูลโดยผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัท นี่คือสิ่งที่ทางการสามารถทำได้

ในส่วนของการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนและนักลงทุนว่า รัฐบาลเอาจริงกับคอร์รัปชันดูจะยากกว่า เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศได้มองว่า การเมืองที่ไม่โปร่งใส คือ ที่มาของการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องเป็นเรื่องการสร้างศรัทธาในระบบการเมืองของประเทศ