กาแฟของพ่อ

กาแฟของพ่อ

นับตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมได้ขึ้นดอยมาแล้วหลายดอย เคยเห็นต้นฝิ่นและดอกฝิ่นที่สวยงาม จนกระทั่งต้นฝิ่นหายไป

และเห็นความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่ขึ้นดอยครั้งล่าสุดนี้ ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ 

เรื่องของเรื่องก็คือ ผู้บริหารของ ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เชิญไปดูงานพัฒนาชุมชนบน ดอยช้าง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 30,000 ไร่ และแมคคาเดเมีย นับหมื่นไร่

พระเอกที่ผมได้พบ เป็นหนุ่มใหญ่วัย 40 ปีเศษ ชื่อว่า “อาเดียว” ซึ่งพ่อของเขา “พิก่อ” เป็นหนึ่งในชาวเขาเผ่า อาข่า ที่ไปรับต้นกาแฟอาราบิก้า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อ 30 กว่าปีก่อน

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพลิกพื้นที่ “ปลูกฝิ่น” ให้กลายเป็น “ไร่กาแฟ” พืชเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ชาวดอยช้าง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมาก จนเห็นได้ชัดในวันนี้

ช่วงแรกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก อาเดียวซึ่งรับภารกิจต่อมาจากพิก่อ เล่าให้ฟังว่า เมื่อต้นกาแฟเริ่มผลิดอกออกผล ชาวเขาได้นำลงไปขายในเมือง การลงจากยอดดอย ทำได้ยากลำบาก ต้องขนสินค้าด้วยม้า และใช้เวลาเดินทางถึง 8 ชั่วโมง

พอลงไปถึงข้างล่าง นายหน้ากดราคา จาก 20 บาท เหลือ 12 บาท ผีถึงป่าช้าแล้ว จะขายหรือไม่ ถ้าไม่ขายก็ขนกลับไปสิ....อาเดียวบอกว่าชาวเขาเจ็บปวดหัวใจยิ่งนัก ขายเสร็จก็กลับขึ้นดอย ตัดต้นกาแฟทิ้งทั้งหมด แต่แล้วอีกไม่นาน ต้นกาแฟก็กลับแตกใบขึ้นมาอีก “พิก่อ” เลยเชื่อว่า ต้นไม้ที่ “พ่อ” ให้มานั้น พ่อต้องคิิดแล้วว่าดีจริง เขาจึงกัดฟันทำต่อไป

แต่ไม่ว่าจะทำอะไร เรื่องของ “เงิน” ก็เข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวเขาไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน แล้วธนาคารที่ไหนจะให้สินเชื่อ ตรงนี้แหละที่ ธกส. เริ่มเข้าไปดูแลเมื่อปี 2535 โดยก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ออมเพียง 1 บาทต่อวันต่อครอบครัว ได้เงินออมครอบครัวละ 30 บาทต่อเดือน จากนั้น ธกส. ก็เริ่มให้สินเชื่อในอีก 2 ปีต่อมา

จากวันนั้นถึงวันนี้ ความสำเร็จของกาแฟดอยช้าง ได้กลายเป็นตำนานไปแล้ว เมื่อก.ค. 2558 กาแฟดอยช้างได้รับการขึ้นทะเบียน “GI” ในสหภาพยุโรป ทำให้การเปิดตลาดกลุ่ม EU สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น และจากนี้ไปถ้าจะเรียกว่า “กาแฟดอยช้าง” ก็ต้องผลิตจากดอยช้าง เท่านั้น

แล้วอีก 24 ดอยใกล้เคียง ที่ปลูกกาแฟเช่นกัน ตรงนี้จะทำอย่างไรล่ะ คุณพิษณุชัย แก้วพิชัย ที่ปรึกษาด้านการตลาดของ “มูลนิธิดอยช้าง” บอกผมว่าเรื่องนี้ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี ได้เข้ามาร่วมทำ Social Enterprise เพื่อช่วยชาวเขาอีก 24 ดอย ให้ผลิตกาแฟคุณภาพ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับชาวดอยช้าง โดยมูลนิธิฯ ได้ตั้งสถาบัน “Doi Chaang Academy of Coffee” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ชาวเขาเหล่านั้น

จากกลุ่มกาแฟ ผมไปชม กลุ่มแมคคาเดเมีย พระเอกของเราคราวนี้ชื่อว่า “ตุ่น” ชาวเขาเผ่าลีซอ เขาเล่าเรื่องราวของต้นแมคคาเดเมีย ด้วยภาษาไทยที่คมชัดและมากด้วยอารมณ์ขัน
คุณตุ่นเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงตรัสกับคุณพ่อของตนว่า “การปลูกฝิ่นนั้น เปรียบเหมือนมัจจุราช นะ...” ชาวเขาก็เลยเปลี่ยนมาปลูกแมคคาเดเมีย แต่เมื่อได้ผลิตผลออกมา ก็แปรรูปไม่เป็น ขายไม่ได้ เด็กๆเอาลูกแมคคาเดเมีย ไปยิงนก ฯลฯ กว่าจะมีรอยยิ้มวันนี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน

ผมอยู่ที่นั่น 1 วันเต็ม สังเกตเห็นว่า ทั้งอาเดียว คุณพิษณุชัย และ คุณตุ่น เวลาพูดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงเปลี่ยนชีวิตของชาวเขาให้ดีขึ้น ทุกคนต่างมีแววตาและอารมณ์ที่บ่งบอกอย่างชัดเจน ว่าซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เป็นล้นพ้น สรุปได้ง่ายๆว่า ถ้าไม่มีพระองค์ ก็ไม่มีวันนี้

ก่อนขึ้นรถกลับ ผมหันไปถามคุณตุ่นเป็นคำถามสุดท้ายว่า “เมื่อทราบว่าพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว คุณตุ่นรู้สึกอย่างไร” ใบหน้าของคุณตุ่นเศร้าลงทันที เขาตอบด้วยเสียงที่แผ่วและแววตาอมเศร้าว่า....“รู้สึกหัวใจสลายครับ”

นาทีนั้นผมก็อยากจะพูดกับคุณตุ่นอีกหนึ่งประโยค แต่กลับพูดไม่ออก คำพูดที่จุกอยู่ในลำคอของผมคือ.... “ผมก็รู้สึกเช่นเดียวกันครับ”